เช็ก 3 จังหวัดแจ้งครอบครอง 'อิกัวน่า' มากสุด - วิธีขึ้นทะเบียนผ่านทางออนไลน์
เช็ก '3 อันดับ' จังหวัดที่มีผู้แจ้งการครอบครอง 'อิกัวน่า' มากสุด พร้อมวิธีขึ้นทะเบียนง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์
ความคืบหน้ากรณี 'อิกัวน่า' หลังพบแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในไทย ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ย.66) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) จ.นครนายก เพื่อตรวจติดตามสถานที่รองรับและอนุบาล 'อิกัวน่าเขียว' ซึ่งดักจับมาจากบริเวณเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
โดยก่อนหน้านี้ได้รับการร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวว่า อิกัวน่าเขียวได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เข้ากัดกินพืชผลทางการเกษตร และรบกวนวิถีชีวิตตามปกติของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดักจับอิกัวน่าเขียวในพื้นที่ดังกล่าว ล่าสุดสามารถดักจับได้แล้วจำนวน 134 ตัว และในพื้นที่ป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี ดักจับได้จำนวน 6 ตัว นำไปดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ.หนองคาย ดักจับโดยการแจ้งทางสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติฯ 1362 ในพื้นที่เขตบางนา กรุงเทพฯ จำนวน 1 ตัว และในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆทั่วประเทศ จำนวน 22 ตัว
ต่อมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกแถลงการณ์ให้ผู้ที่ครอบครองอิกัวน่าเขียวทั่วประเทศ แจ้งการครอบครองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้แจ้งการครอบครองอิกัวน่าเขียวแล้วทั้งสิ้น 260 ราย จำนวน 3,667 ตัว ในพื้นที่ 61 จังหวัด ซึ่งจังหวัดชลบุรีมีผู้แจ้งการครอบครองอิกัวน่าเขียวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 982 ตัว จากผู้แจ้งฯ 14 ราย รองลงมาเป็นจังหวัดขอนแก่น 446 ตัว จากผู้แจ้งฯ 10 ราย และอันดับ 3 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 287 ตัว จากผู้แจ้งฯ 45 ราย
สำหรับผู้ที่ต้องการ 'ลงทะเบียนแจ้งจำนวนที่ครอบครองอิกัวน่าเขียว' สามารถลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ได้ที่ (คลิก)
อนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดทำโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคุ้มครองทรัพยากรสัตว์ป่า จึงขอเชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร มูลนิธิ บริษัท กลุ่มบุคคล หรือบุคคลทั่วไป สามารถสนับสนุนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ที่หมายเลขบัญชี 980-216-5379 ชื่อบัญชีโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เพื่อนำมาเป็นค่าอาหาร ค่าปรับปรุง ซ่อมแซม หรือปรับภูมิทัศน์กรงเลี้ยง โดยสามารถขอใบเสร็จ ส่งหลักฐานการโอนเงินพร้อมระบุชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล์ และรายละเอียดของการสนับสนุนมาที่ E-mail : [email protected] โทร/โทรสาร 025799630 สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงนามในประกาศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ประกาศห้ามนำเข้า 'อิกัวน่า' และสัตว์ในวงศ์เดียวกันทุกชนิดเพื่อควบคุมประชากร โดยมีใจความว่า
ด้วยสถานการณ์ที่ปรากฏตามข่าวเกี่ยวกับการพบอิกัวน่าจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ ในจังหวัดลพบุรี และกัดกินพืชผลทางการเกษตรของประชาชน โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ อิกัวน่าที่พบเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งไม่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่ปรากฏสาเหตุที่แน่ชัดของการพบชนิดพันธุ์ดังกล่าวในธรรมชาติ
และเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาดังกล่าวขยายเพิ่มมากขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ประกอบกับ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้าสัตว์ป่า ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เพื่อเป็นมาตรการควบคุมปริมาณภายในประเทศ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้
กลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ วงศ์อิกัวน่า (Family Iguanidae) ลำดับที่ 690 อิกัวน่าทุกชนิดในสกุล Iguana (Iguana spp.)
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับการครอบครองอิกัวน่าเขียวไม่มีโทษ แต่การปล่อยอิกัวน่าเขียวที่อยู่ในความครอบครองให้เป็นอิสระ ไม่สามารถกระทำได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ