ค่า PSC คืออะไร ล่าสุด AOT ประกาศขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออกในสนามบิน 6 แห่ง
ทำความรู้จักค่า PSC คืออะไร หลังล่าสุด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT ประกาศปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออกในสนามบิน 6 แห่ง
ทำความรู้จักค่า PSC คืออะไร หลังล่าสุด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT ประกาศปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออกในสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีผลวันที่ 1 เมษายน 2567
ค่า PSC คืออะไร สำหรับ PSC ย่อมาจากคำว่า Passenger Service Charges คือค่าบริการผู้โดยสารขาออก เพื่อสนามบินจะนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับความปลอดภัย สะดวกสบาย และรวดเร็วในการใช้บริการสนามบินมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การจัดเก็บเป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยคำนวณค่าบริการและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการบริการต่างๆ ที่สนามบินจัดทำขึ้น ภายใต้พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ประกาศล่าสุดจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่ AOT ได้นําระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing Systems: CUPPS) มาให้บริการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- ท่าอากาศยานดอนเมือง
- ท่าอากาศยานเชียงใหม่
- ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
- ท่าอากาศยานภูเก็ต
- ท่าอากาศยานหาดใหญ่
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ความปลอดภัยในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่ได้กำหนดนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศในการนำเทคโนโลยีระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) มาใช้ในสนามบินที่ให้บริการแก่สาธารณะ เพื่อพัฒนาการดำเนินการสนามบินสาธารณะให้มีความทันสมัย มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล นั้น
ปัจจุบันการให้บริการระบบ CUPPS ประกอบด้วย
(1) บริการตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment: CUTE) ที่เข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการของเคาน์เตอร์เช็กอินเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการบนมาตรฐานเดียวกันกับท่าอากาศยานระดับสากล
(2) บริการเช็กอินด้วยตัวเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารไม่ต้องรอแถวเช็กอิน อีกทั้งยังสามารถเช็กอินล่วงหน้าเป็นเวลา 6 – 12 ชั่วโมงก่อนเดินทาง (ตามเงื่อนไขของแต่ละสายการบิน)
(3) บริการรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดสัมภาระได้ด้วยตนเอง ซึ่งการนําระบบ CUPPS มาให้บริการส่งผลให้มีต้นทุนอัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น AOT จะปรับขึ้นค่า PSC หรือค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยปรับจาก 700.- บาทต่อคน เป็น 730.- บาทต่อคน
- ผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ปรับจาก 100.- บาทต่อคน เป็น 130.- บาทต่อคน
โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
ในกระบวนการพิจารณาการปรับปรุงค่า PSC ดังกล่าว AOT ได้เสนอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อขออนุมัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางการเรียกเก็บค่าบริการระบบ CUPPS ซึ่ง กพท. ได้มีการพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้โดยสารซึ่งเป็นผู้ใช้บริการระบบ CUPPS อีกทั้งค่าบริการดังกล่าวเป็นค่าบริการที่เกี่ยวกับการบิน (Aeronautical charges) ดังนั้น AOT จึงควรนำค่าบริการ CUPPS มาคำนวณรวมเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของค่า PSC ตามมาตรา 56 (1) แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ
เพื่อให้ถูกต้องตามประเภทของค่าบริการและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในบริการต่างๆ ที่สนามบินจัดทำขึ้น เพื่อเรียกเก็บค่าบริการจากผู้โดยสารเพื่อประโยชน์ของผู้โดยสาร เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบินสำหรับผู้โดยสารตามความในมาตรา 60/37 ซึ่งเป็นเจตนารมณ์สำคัญในการที่ผู้ดำเนินงานสนามบินอนุญาตที่ให้บริการแก่สาธารณะสามารถเรียกเก็บค่า PSC ได้ โดยอัตราค่า PSC ที่ปรับเพิ่มดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว
ดร.กีรติ กล่าวว่า สำหรับรายได้จากการจัดเก็บค่า PSC นั้น กฎหมายได้กำหนดให้ผู้บริหารท่าอากาศยานนำไปใช้ในการพัฒนาท่าอากาศยาน จัดหาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการบำรุงรักษาด้านความปลอดภัยท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานของท่าอากาศยานในระดับสากล รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในท่าอากาศยานทุกแห่ง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัย
และความสะดวกสบายจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จัดไว้รองรับ ทั้งนี้ การพัฒนาของท่าอากาศยานจะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่ง AOT มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจเคียงข้างสังคมไทยและเติบโตได้อย่างยั่งยืน