กระทรวงดิจิทัลฯ เตือน อย่าลงเชื่อโฆษณาลวงจากมิจฉาชีพ รับทำบัตร ปชช. ออนไลน์
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ เตือนประชาชนอย่าลงเชื่อโฆษณาลวงจากมิจฉาชีพ รับทำบัตร ปชช. ออนไลน์ ชี้ต้องแสดงตัวต่อ จนท. กรมการปกครอง เท่านั้น ย้ำโทษสูง จำคุก 6 เดือน-10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสน ทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผย บัตรประชาชน ถือเป็นบัตรประจำตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งในบัตรมีข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วันเดือนปีเกิด ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่จำเป็นและมีความสำคัญมาก เพราะสามารถนำเลขนั้นไปใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือใช้ในการยืนยันตัวตน หากมีใครนำบัตรของเราไปใช้ หรือทำบัตรหาย ก็อาจเกิดความเสียหายต่อตัวเราได้เช่นกัน ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกนำบัตรไปปลอมแปลง หรือแอบอ้างสวมรอยต่าง ๆ
และเมื่อบัตรประจำตัวประชาชนมีความสำคัญมากแล้ว แต่ก็ยังมีบุคคลบางประเภทที่อยากมีบัตรประชาชนเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนต่างด้าว หรือกลุ่มมิจฉาชีพที่อยากจะนำบัตรประชาชนไปในการก่ออาชญากรรม เช่น การนำเงินไปเช่ารถในสถานที่ท่องเที่ยวแล้วนำรถไปขายต่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ มิจฉาชีพก็ได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการลงโฆษณาชวนเชื่อว่า รับทำบัตรประชาชนออนไลน์ หากใครพบเจอขออย่าหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะตามขั้นตอนการทำบัตรประชาชน โดยกรมการปกครอง จะต้องมีการแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำบัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารปลอมผ่านเพจเฟสบุ๊ค ทำให้สูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากเมื่อทำการตรวจสอบแล้วปรากฎข้อเท็จจริงว่า การโฆษณา และรับทำเอกสารทางราชการปลอมดังกล่าว มีลักษณะเป็นการหลอกลวงให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินไปให้และตัดการติดต่อหลังมิจฉาชีพได้เงินไป
นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชน ชี้แจงว่า การดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างรัดกุม ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกกรณี
ทั้งนี้ ดำเนินการได้ ณ สำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือสำนักทะเบียนอำเภอเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายป้องกันและปราบปรามและสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยให้เน้นย้ำในเรื่องสำคัญ ดังนี้
1. ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น ถือเป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารสิทธิและเอกสารราชการ สำหรับผู้ที่จ้างต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้รับจ้างที่ทำเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 265 หรือ 266 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น หรือผู้ใดนำเอกสารปลอมไปใช้หรืออ้างให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารจริงโดยทุจริตและปกปิดข้อเท็จจริง มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268ต้องระวังโทษเช่นเดียวกับข้อ 1. ข้างต้น ซึ่งมีระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"การดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างรัดกุม ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกกรณี ซึงจะดำเนินการโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนของคนไทย ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อคำชักชวน หลอกหลวงผ่านสื่อต่างๆ" นางสาวรัชดา ย้ำ
อ้างอิง : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม