ปธ.หอการค้าสิบสองปันนา เสนอไทย ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ลดกฎระเบียบ-ภาษี
ปธ.หอการค้าสิบสองปันนา เสนอไทยทำเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า หลังประสบปัญหาเรื่องภาษีและค่าผ่านด่านส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่ง แนะใช้เส้นทาง R3A ขนส่งสินค้าให้รถยนต์ จีน-ไทย เข้าได้ไม่ต้องผ่านพิธีการ
ดร.อรรฆพร ก๊กค้างพลู หัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ลาว-ไทย : ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า จากการที่ตนพร้อมคณะได้เดินทางไปหารือและรับฟังความคิดเห็นของนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ในพื้นที่ทางรถไฟจีน-ลาว ตั้งแต่หลวงพระบาง สปป.ลาว สิบสองปันนา และคุณหมิงของประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาพบว่า
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากให้มีความร่วมมือกันระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และจีน เนื่องจากหลังการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว แล้วเสร็จและเปิดใช้มาครบ 2 ปีพบว่ามีนักท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมมือกันทั้ง 3 ประเทศที่จะทำให้มีการพัฒนาประเทศในแนวระเบียงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
“การเข้าไปหารือและรับฟังความคิดเห็นนักธุรกิจส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากรถไฟ จีน-ลาว โดยเฉพาะการค้าขาย การขนส่งสินค้า แต่จะติดปัญหาบ้างเรื่องศุลกากร เรื่องภาษี ซึ่งการขนส่งทางรถไฟที่ยังไม่เชื่อมเข้าประเทศไทย ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางรถไฟเป็นทางรถบรรทุกแทน ซึ่งการขนส่งทางรถไฟนี้สามารถทำให้ขนส่งสินค้าได้จำนวนมากขึ้น ใช้ระยะเวลาเร็วขึ้น
โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่มาจากจีนเพื่อเข้ามายังลาว และไทยคือ เหล็กเส้น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผัก และผลไม้ ส่วนสินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศลาวและจีนซึ่งไทยยังไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมมายังลาวแต่ใช้การขนส่งแบบรถบรรทุกก็ยังเป็นสินค้าประเภทเครื่องอุปโภค บริโภค ผัก ผลไม้ ซึ่งเป็นที่ต้องการมาก โดยเฉพาะประเทศจีนต้องการผลไม้จากประเทศไทยมากโดยเฉพาะทุเรียน” ดร.อรรฆพร กล่าว
ดร.อรรฆพร กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างกลไกความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการค้า การลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพรวมไปถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และการหารือครั้งนี้สามารถนำผลการศึกษามาวิเคราะเพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน ในห่วงโซ่อุปทานบนระเบียงเศรษฐกิจไทย- ลาว- จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไทย ลาว จีน เช่น อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอุตสาหกรรมโรงงาน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการขนส่ง
ที่สำคัญจากการหารือพบว่ามีข้อเสนอที่สำคัญหลากหลายประการที่สามารถเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สามารถสร้างลกลไกความร่วมมือกันได้ และสามารถนำข้อเสนอแนะดังกล่าวนำไปปฏิบัติในพื้นที่ (Implementation) เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ และเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ทั้งสามประเทศ
ด้านนายหลิว จิง เฉียว ประธานหอการค้ายูนนานสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมายาวนานถึง 20 ปี โดยนำสินค้าส่งมาทางเรือผ่านชายแดนที่จังหวัดเชียงราย พอมีเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ตนก็เปลี่ยนไปส่งสินค้าผ่านทางรถไฟเพราะพุ่งตรงมาที่สิบสองปันนาเลย แต่การขนส่งสินค้าโดยใช้รถไฟจะต้องเป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสียและมีปัญหาเรื่องภาษีเรื่องค่าผ่านด่านของทางการลาวค่อนข้างมากทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น สินค้าหลายอย่างต้องมาขนส่งทางเรือจากไทยมาจีนเหมือนเดิมเพราะสะดวก รวดเร็ว ราคาการขนส่งถูกกว่า ถ้าหากมีรถไฟเชื่อมจากกรุงเทพฯ มาถึงสิบสองปันนาเลยยิ่งดี
“อยากให้มีการใช้เส้นทาง R3A ที่สามารถเอารถยนต์ของสิบสองปันนาเข้าไทยได้เลย และรถจากไทยเข้ามายังสิบสองปันนาได้ และอยากสร้างความร่วมมือให้มีนโยบายพิเศษให้เกิดพื้นที่การค้าระหว่างไทยและสิบสองปันนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้สินค้าไทยสามารถเข้ามาที่สิบสองปันนาด้วยทางรถยนต์แล้วค่อยกระจายไปยังประเทศจีนในมณฑลอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพราะความต้องการสินค้าเกษตรของไทยในจีนมีมากโดยให้สิบสองปันนาคือด่านหน้าการค้าระหว่างไทยและจีน” นายหลิว กล่าว
และยังบอกอีกว่า ตอนนี้สินค้าจากไทยเป็นที่ต้องการของจีนมาก อยากให้รัฐบาลไทยทำความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการนำเข้าสินค้าและส่งออกสินค้าของทั้งสองประเทศ โดยมีพื้นที่พิเศษในการทำการค้า ปลอดภาษีลดพิธีการทางศุลกากรและระเบียบต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันค่อนข้างมีระเบียบยุ่งยาก ต้องผ่านด่านหลายอย่าง หากมีการทำพื้นที่พิเศษด้านการค้าระหว่าง 3 ประเทศคือ จีน ลาว และไทย จะทำให้อำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดนมากยิ่งขึ้น.