'มาดามเดียร์' ดูงานปลูกป่าคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาโลกร้อน สร้างรายได้ประเทศ
"มาดามเดียร์" ดูงานปลูกป่าคาร์บอนเครดิต ชี้ เป็นสิ่งสำคัญรักษาสมดุลธรรมชาติ แก้ปัญหาโลกร้อน พร้อมสร้างโอกาสประเทศสร้างรายได้จากเศรษฐกิจสีเขียว
วันนี้ (12 ธ.ค. 66) น.ส.วทันยา บุนนาค 'มาดามเดียร์' เดินทางลงพื้นที่ จ.ชุมพร และตรัง เพื่อมาศึกษาการปลูกป่าคาร์บอนเครดิต ที่ถือเป็นอีกหนึ่งการแก้ไขปัญหาโลกร้อน การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไปพร้อมๆกับการสร้างโอกาสของประเทศ ด้วยการสร้างรายได้จากเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย ซึ่งจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน ทุกประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการหาวิธีแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักก็เกิดมาจากการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ จึงเป็นที่มาของการคิดระบบตลาดการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เพื่อหาทางบาลานซ์ หรือรักษาสมดุลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโลกขึ้น
ทุกวันนี้มนุษย์เราทุกคนต่างล้วนผลิตก๊าซคาร์บอนต่างๆขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะผ่านการใช้พาหนะรถยนต์ รถประจำทาง หรือกระทั่งการเข้าห้องน้ำทำธุระประจำวันก็ผลิตก๊าซคาร์บอนขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศ ก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เราเรียกว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ส่วน “คาร์บอนเครดิต” ก็คือ การลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาบมาใช้รถไฟฟ้า ตรงนี้เราสามารถคำนวณออกมาได้ว่าเราลดการใช้คาร์บอนฟุตปรินท์ไปได้เท่าไหร่จากการใช้พลังงานไฟฟ้า ก็จะกลายมาเป็นคาร์บอนเครดิตที่เหมือนเป็นแต้มสะสม เหมือนที่เราทุกคนรู้ดีตั้งแต่ที่เรียนมาในวัยเด็กว่า พืชสีเขียว หรือต้นไม้นั้นจะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพื่อนำมาผลิตเป็นออกซิเจน ดังนั้นการปลูกต้นไม้จึงเป็นการลดคาร์บอนที่ดีที่สุด เพราะสามารถดูดซับออกจากอากาศ ไม่ใช่เพียงแค่ลดการใช้คาร์บอนเท่านั้น
น.ส.วทันยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปต่างตื่นตัวออกกฎหมายบังคับใช้กับภาคอุตสาหกรรมใหญ่โดยเริ่มจากอุตสาหกรรม 5 ประเภท ได้แก่ ปูน เหล็ก อะลุมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า ที่รัฐจะจัดเก็บภาษีการสร้างคาร์บอนฟุตปรินท์จากบริษัทเหล่านี้ เลยเป็นเหตุให้บริษัทภาคเอกชนต่างๆ ต้องหาซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดเพื่อนำไปชดเชยหักกลบกับคาร์บอนฟุตปรินท์ที่ใช้ไป ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่เพียงแค่กับบริษัทที่ดำเนินกิจการภายในยุโรปเท่านั้นที่จะต้องเสียภาษีคาร์บอน แต่ทุกประเทศทั่วโลกที่จะส่งสินค้าในอุตสาหกรรมที่กำหนดเพื่อนำเข้าสินค้าไปในยุโรปก็จะต้องเสียภาษีคาร์บอนด้วยเช่นกัน ซี่งนั่นก็เท่ากับว่าหลายบริษัทในประเทศไทยก็จะต้องเริ่มคำนวณคาร์บอนฟุตปรินท์และหาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาชดเชย
ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (พ.ร.บ.โลกร้อน) ซึ่งเนื้อหาใน พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะมีการพูดถึงการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของประเทศไทย นั่นหมายความว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านเมื่อไหร่ก็จะทำให้ตลาดการซื้อ-ขายคาร์บอนในประเทศไทยนั้นมีความเข้มแข้งมากขึ้น จะเห็นได้ชัดว่าคาร์บอนเครดิตนั้นมีประโยชน์ เพราะจะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างกลไกเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ แก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน หรือปัญหาโลกร้อนที่ทุกวันนี้กำลังส่งผลกระทบถึงมนุษย์ทุกคนบนโลกอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะตั้งแต่ภัยพิบัติธรรมชาติ ปัญหาผลผลิตการเกษตร หรือกระทั่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็ล้วนแล้วแต่มาจากปัญหาโลกร้อนทั้งสิ้น นั่นยังไม่นับรวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเราเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด1 ใน 5 ของโลกด้วย
“หากเราสามารถช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศได้ นอกจากจะเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาสภาพอากาศด้วยการรักษาสมดุลธรรมชาติแล้ว ยังกลายเป็นอีกหนึ่งรายได้ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน เป็นการกระจายรายได้ที่ยั่งยืนผ่านการทำป่าชุมชนร่วมกันได้อีกด้วย” น.ส.วทันยา กล่าวทิ้งท้าย