ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าควรเป็นสินค้าต้องห้าม | สุชาดา ตั้งทางธรรม
เหตุไฉนจึงมีความพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย? เหตุผลที่กลุ่มสนับสนุนอ้าง คือ 1.บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า 2.เมื่อถูกกฎหมายจะเก็บภาษีได้และไม่มีปัญหาลักลอบซื้อขาย 3.ควรเป็นสินค้าควบคุมเช่นเดียวกับบุหรี่มวน และ 4.ผู้สูบควรมีสิทธิที่จะเลือกสูบได้
ฟังดูก็น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะสำหรับผู้ไม่เคยรู้เล่ห์เหลี่ยมของบริษัทบุหรี่มาก่อน
สำหรับเหตุผลข้อแรก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) อาจารย์แพทย์ และองค์กรเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพออกมาให้ข้อมูลมากแล้ว ก็อยู่ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านว่าจะเชื่อข้อมูลฝ่ายใด บุหรี่หรือสุขภาพ เหตุผลข้อ 2 กระทรวงการคลังหากจะหารายได้จากภาษีนี้ ก็ควรคิดวิเคราะห์ผลได้ผลเสียให้สังคมรับรู้ด้วย
บทความนี้จะพูดถึงเหตุผล 2 ข้อที่เหลือ ดังนี้ ตั้งแต่ปี 2507 ที่รายงานของแพทย์ใหญ่สหรัฐ (US Surgeon General) ระบุว่าการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดและโรคอื่นๆ ก็มีการรณรงค์ให้เลิกสูบแบบค่อยเป็นค่อยไป กำหนดเป้าหมายลดอัตราการสูบบุหรี่ลงเรื่อยๆ อย่างเช่น สวีเดน ที่ตั้งเป้าปลอดบุหรี่ในปี 2566 นิวซีแลนด์ปี 2568 เป็นต้น
บุหรี่มวนสูบกันมานานนับศตวรรษกว่าจะรู้ชัดถึงอันตราย จนบัดนี้เกือบ 60 ปีแล้วก็ยังควบคุมได้ยาก บุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่เพิ่งมีมาไม่นาน WHO เห็นปัญหาและให้แนวทางในการควบคุมมาตั้งแต่ปี 2551
ต่อมาปี 2559 ก็ชี้แนะ “ห้าม” หรือ “จำกัด” การผลิต การนำเข้า การแจกจ่าย การนำเสนอ การขาย และการใช้ตามความเหมาะสมกับกฎหมายของแต่ละประเทศ และวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข
ปัจจุบันมี 37 ประเทศที่ห้ามและมีแนวโน้มจะห้ามเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่วนประเทศไทย การซื้อหาได้ง่ายเกิดจากการละเลยและความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้นักการเมืองบางคนใช้เป็นข้ออ้างเพื่อผลักดันให้ถูกกฎหมาย แทนที่จะคิดดีทำดีอย่างสิงคโปร์และอีกหลายประเทศที่เขาทำได้ไม่มีปัญหา
Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวในที่ประชุมโลกเรื่องบุหรี่หรือสุขภาพปี 2549 ว่าเคยสูบบุหรี่และเป็นมะเร็งในช่องปากเมื่ออายุ 18 ปี ขณะเรียนที่เคมบริดจ์ปี 2498 ได้ฟัง R. A. Fisher นักสถิติที่ฉลาดปราดเปรื่องและเป็นที่ปรึกษาของบริษัทบุหรี่ อธิบายว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้เชื่อได้ว่าการสูบบุหรี่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง
ประเด็นสำคัญที่ Sen บอกเล่าเรื่องนี้ก็เพื่อให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเที่ยงตรงกับการตรวจสอบอย่างมีวิจารณญาณ และเข้าใจความเกี่ยวข้องของธุรกิจยาสูบในสังคมและในงานวิชาการ ที่บางเรื่องเห็นได้ชัด
(เช่น โฆษณาส่งเสริมการขาย) บางเรื่องไม่ชัดและแอบแฝง (เช่นสนับสนุนกีฬา และกิจกรรม CSR) รวมทั้งการสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง (เช่น ให้ทุนศึกษาวิจัย) โดยมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทบุหรี่ยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาหลายสิ่งหลายอย่างที่ปรากฏในสังคมไทย ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบงานวิชาการ รวมทั้งรายงานต่างๆ ที่สรุปหรือให้ข้อเสนอแนะที่เอื้อประโยชน์บริษัทบุหรี่ว่ามีเหตุมีผลถูกต้องเที่ยงตรงหรือไม่ และสังคมควรจับตาดูว่ามีใครหรือหน่วยงานใดได้รับการสนับสนุนให้พูดแทนโดยบริษัทบุหรี่ไม่ต้องออกหน้า
สำหรับประเด็นที่อ้างเรื่องลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้สูบนั้น Sen กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ด้วย คือจะมีผู้ที่ต้องสูดควันบุหรี่หรือได้รับสารพิษจากการสูบของผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันแม้ยังไม่ทราบผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ก็มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าก่ออันตราย โดยเฉพาะต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก
ในเมื่อครอบครัวและเยาวชนคือกลุ่มใหญ่สุดในสังคมที่ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งกฎหมายก็กำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้ามอยู่แล้ว สิ่งที่นักการเมืองและรัฐบาลควรดำเนินการก็คือเร่งจัดการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และอุดช่องโหว่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ