ภาคประชาคมหวั่น ถ้าเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกทะลัก ?
หากรัฐไฟเขียวเปิดเขตการค้าเสรี (FTA-Free Trade Area )โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลค่าการนำเข้าจะสูงขึ้น จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ?
เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคประชาสังคม BIOTHAI และ FTA WATCH จัดเวทีวิชาการสาธารณะเรื่อง “ผลกระทบและข้อเสนอนโยบายในการเจรจาFTA ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์”
เนื่องจากรัฐบาลกำลังเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA-Free Trade Area ) โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า นโยบาย FTA จะส่งผลต่อการผลิตและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากน้อยแค่ไหน
มูลค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปี 2565 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของโลกมีมูลค่า 1.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเบียร์ 37% ไวน์ 23% Hard seltzer/Sparkling alcohol 12% และสุรากลั่น 10% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนในไทย การตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เติบโตสูง เนื่องจากการเร่งเครื่องเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ช่องทางการจำหน่ายหลากหลายขึ้น กลุ่มลูกค้าชายหญิงที่กำลังขยายตัว และไทยคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
หากไทยเข้าร่วม FTA-EU ที่กำลังเจรจากันอยู่นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าสูงแบบก้าวกระโดด จะขยายไปสู่ฐานลูกค้านักดื่มทั้งเก่าและใหม่
“สิ่งที่จะพบแน่ๆ คือ คนไทยจะได้รับสื่อ โฆษณาแอลกอฮอล์จากบริษัทข้ามชาติมากขึ้น หากไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศกำกับดูแลนักดื่มหน้าใหม่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในเวียดนาม คือCPTPP และ FTA กับ EU อิทธิพลของบริษัทเบียร์ระดับโลกเข้ามากดดันรัฐบาลที่ออกกฎหมายควบคุมโฆษณา”ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าว
ผลดี ผลเสีย การเข้าร่วม FTA
ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ร่วมก่อตั้งประชาชนเบียร์ กล่าวว่า รัฐต้องออกกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพิ่มความหลากหลายให้ผู้บริโภค
โดยมองว่าการโฆษณาต้องมีการควบคุม แต่ต้องไม่คุกคามสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชน ส่วนเรื่องภาษีที่สูงเกินไป ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยมีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาดลดลง
"หลายชุมชนมีศักยภาพในการผลิตสุราจากผลผลิตในชุมชน หากรัฐมีการส่งเสริมการผลิต การตลาด ก็จะทำให้เศรษฐกิจระดับชุมชนดีขึ้น”
ทางด้าน ผศ.ดร.อริศรา ร่มเย็น เณรานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอผลการศึกษาที่เจาะจงในเรื่องภาษี
“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสินค้านำเข้าจะมีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ กลไกภาษีคือแหล่งรายได้ของภาครัฐและศุลกากร ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ปกป้องผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงใช้ป้องกันสินค้าบางประเภท
หากเข้าร่วมข้อตกลงFTA การแข่งขันจะเต็มศักยภาพมากขึ้น ภาษีการนำเข้าจะต่ำลง ราคาเครื่องดื่มนำเข้าประเภทเบียร์จะลดลง 19% ไวน์ 23% และสุรา 24% และจะเกิดการทดแทนกันทันที”
อาคม อ่วมสำอางค์ จากกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีภายใน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพยายามออกแบบการจัดเก็บให้กระทบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด ปัจจุบันการเก็บภาษีจากราคาสินค้าและดีกรีแอลกอฮอล์ จุดนี้ทำให้การภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาษีสรรพสามิตมีผลกระทบต่อการเปิด FTA ค่อนข้างน้อย
กฏหมายคุ้มครองการลงทุน
ผศ.ดร.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเกิดการลงทุนระหว่างประเทศ นักลงทุนจะได้รับการคุ้มครองการลงทุน โดยมีกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศกำกับดูแล ซึ่งหลักการนี้อาจอยู่ในFTA หรือแยกมาต่างหากก็ได้
"ตัวอย่างข้อพิพาทกรณีคดีบุหรี่ Philip Morris กับรัฐบาลอุรุกวัย ที่รัฐถูกฟ้องร้องจากการออกมาตรการเรื่องฉลากสินค้าบุหรี่ ทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินค้าบุหรี่ของบริษัทลดลง”
ส่วน ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่นสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอผลการศึกษา“สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือชื่อสถานที่ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพสินค้าและแหล่งกำเนิดสินค้า
"ยกตัวอย่างฝรั่งเศสออกกฎหมายนี้มาเพื่อปกป้องไวน์ในประเทศ ไม่ให้มีสินค้าเลียนแบบ กฎหมายนี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีประวัติการผลิตสินค้ามายาวนาน
และกฎหมายนี้ก่อให้เกิดการผูกขาด ที่ส่งผลให้สินค้าราคาสูงขึ้น มีปริมาณจำกัด และตัดโอกาสการแข่งขันของสินค้านอกพื้นที่ แต่ในอีกมุมจะช่วยส่งเสริมสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ชนบทที่มีข้อจำกัดให้เติบโตขึ้น”