ปลัด มท. เผย 'หนี้นอกระบบ' ประชาชนลงทะเบียนกว่า 1 แสนราย มูลหนี้ 7.7 พันล้าน
ปลัดมหาดไทย เผยผลการลงทะเบียนหนี้นอกระบบเข้าสู่เดือนที่ 2 ครบ 35 วัน ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 117,583 ราย มูลหนี้ 7,720 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 1,348 ราย มูลหนี้ลดลงร่วม 159 ล้านบาท และกรณีไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ดำเนินคดีแล้ว 29 คดี
วันนี้ (4 ม.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 35 เป็นเดือนที่ 2 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 7,720.742 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 117,583 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 101,578 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 16,005 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 87,658 ราย
มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก
1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 7,340 ราย เจ้าหนี้ 6,450 ราย มูลหนี้ 685.514 ล้านบาท
2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,966 ราย เจ้าหนี้ 4,316 ราย มูลหนี้ 323.842 ล้านบาท
3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 4,570 ราย เจ้าหนี้ 3,404 ราย มูลหนี้ 295.654 ล้านบาท
4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,485 ราย เจ้าหนี้ 2,929 ราย มูลหนี้ 344.265 ล้านบาท
5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,111 ราย เจ้าหนี้ 2,590 ราย มูลหนี้ 240.828 ล้านบาท
จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 174 ราย เจ้าหนี้ 141 ราย มูลหนี้ 9.240 ล้านบาท
2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 242 ราย เจ้าหนี้ 167 ราย มูลหนี้ 17.6956 ล้านบาท
3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 313 ราย เจ้าหนี้ 225 ราย มูลหนี้ 10.036 ล้านบาท
4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 390 ราย เจ้าหนี้ 275 ราย มูลหนี้ 15.912 ล้านบาท
5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 421 ราย เจ้าหนี้ 283 ราย มูลหนี้ 20.385 ล้านบาท
“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 4,878 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 1,348 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 312.498 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 152.586 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 159.911 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 1,149 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 37 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 90.373 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 2.724 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัด ลดลงมากถึง 87.649 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือ กระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ทั่วประเทศมีการดำเนินคดีไปแล้ว 29 คดี โดยจังหวัดระนองยังคงมีการดำเนินคดีมากที่สุด 6 คดี” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เล็งเห็นถึงปัญหาหนี้นอกระบบว่าเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก “เป็นวาระแห่งชาติ” ที่ทุกส่วนราชการจะต้องช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนได้ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชน โดยได้ดำเนินการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ด้วยการระดมสรรพกำลังและองคาพยพในเชิงพื้นที่ โดยมีผู้นำในแต่ละพื้นที่เป็น “แม่ทัพ” นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ และมี “หัวหมู่ทะลวงฟัน” นำโดยผู้นำท้องถิ่นท้องที่ในแต่ละพื้นที่ ช่วยกันเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้ลงทะเบียนให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ขั้นตอนต่อไปจะได้มีการประสานบูรณาการการปฏิบัติช่วยกัน ด้วยการพาทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้นอกระบบมาพูดคุยเพื่อพิสูจน์ความจริง และดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยเพื่อเป็นการยุติหนี้นอกระบบ โดยยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง และคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของลูกหนี้เป็นสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองลงพื้นที่เก็บข้อมูล คอยหาข่าว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ประชาชนไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวและเป็นหนี้นอกระบบอีก
“กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอล์กอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถาม/ขอคำปรึกษาจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย