ไตรมาสแรก ปี 67 ไทยส่งแรงงานไปต่างประเทศแล้ว 21,281 คน
ปลัดแรงงาน เผยไตรมาสแรก ปี 67 ส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศแล้ว 21,281 คน โกยรายได้เข้าประเทศเป็นเม็ดเงิน 58,627 ล้านบาท
วันนี้ (30 ม.ค. 67) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2567 ในช่วงไตรมาสแรกตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงธันวาคม 2566 ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว 21,281 คน จำแนกเป็นบริษัทจัดส่ง/นายจ้างพาไปทำงาน/นายจ้างส่งไปฝึกงาน มากที่สุด 10,024 คน แจ้งการเดินทางกลับไปทำงาน (Re-entry) 7,709 คน จัดส่งโดยรัฐ 2,015 คน และ แจ้งการเดินทางด้วยตนเอง 1,533 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศจากรายได้ส่งกลับคิดเป็นมูลค่า 58,627 ล้านบาท
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก รวม 118,080 คน จำแนกเป็นเพศชาย จำนวน 92,966 คน และเพศหญิง จำนวน 25,114 คน โดย 10 ประเทศแรกที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุดคือ ไต้หวัน 51,960 คน รองลงมาคือ สาธารณรัฐเกาหลี 20,150 คน ตามด้วย รัฐอิสราเอล 14,593 คน ญี่ปุ่น 8,716 คน มาเลเซีย 4,901 คน สาธารณรัฐสิงคโปร์ 3,194 คน ฮ่องกง 1,528 คน ฮังการี 1,140 คน สหรัฐอเมริกา 1,041 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1,002 คน โดย 10 ตำแหน่งที่ แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด คือ 1) คนงานเกษตร 2) คนงานอุตสาหกรรมทั่วไป 3) ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ 4) กรรมกรหรือคนงาน 5) คนงานทั่วไป 6) ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างอื่น ๆ 7) คนงานผลิต ผลิตภัณฑ์โลหะ 8) ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 9) นวดแผนโบราณ 10) การเกษตร
“ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำคัญให้กับกระทรวงแรงงาน ไว้ว่า ให้ส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 และผมได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเตรียมแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศไว้แล้ว โดยแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศนั้น กระทรวงแรงงานมีทูตแรงงานหรือสำนักงานแรงงานในต่างประเทศดูแล และช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการดูแลคุ้มครองแรงงานให้ได้รับความคุ้มครอง เป็นธรรม ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ
ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ 1)สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) 2) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น 4) สำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง 5) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงไทเป 6) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง 7) สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย 8) สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ 9) สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน 10) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล 11) ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และ 12) ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” นายไพโรจน์ กล่าว