จับได้แล้ว 'เสือโคร่ง' คลองลาน หลังพบออกมาเดินในชุมชน สภาพผอมโซ ตาซ้ายบอด
จับได้แล้ว 'เสือโคร่ง' คลองลาน หลังพบออกมาเดินในชุมชนที่ จ.กำแพงเพชร สุดเวทนา! สภาพผอมโซ ตาซ้ายบอด ก่อนส่งฟื้นฟูร่างกายสถานีเพาะเลี้ยงฯห้วยขาแข้ง
จากกรณีพบ 'เสือโคร่ง' ออกมาเดินในพื้นที่บริเวณป่าท้ายหมู่บ้านกระเหรี่ยงน้ำตก อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร จนสร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่นั้น ซึ่งเรื่องนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจากนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) แจ้งว่า
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากนายสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน ว่าได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกับนางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และนางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ รวมจำนวน 60 นาย แบ่งกำลังคอยเฝ้าระวังทั้งในหมู่บ้านและควบคุมพื้นที่ปิดล้อมป่ามะขามและป่าไผ่ เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ และวางแผนดำเนินการร่วมกันตามหลักวิชาการ ในภารกิจช่วยเหลือเสือโคร่งที่ออกนอกพื้นที่ดังกล่าว
กระทั่งเวลาประมาณ 21.50 น. กล้องดักถ่าย (camera trap) จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) ได้จับภาพเสือโคร่งเดินย้อนเส้นทางจากหลังวัดน้ำตก สำนักวิปัสนากรรมฐานน้ำตกคลองลาน เข้ามากินเหยื่อที่ทำการล่อไว้ แล้วติดกับดักที่ขา ทีมยิงยาสลบที่ซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ได้ยิงยาสลบเข้าไป 1 เข็ม จากนั้นนายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงเข้าทำการวางยาสลบ และประสานเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำร่างเสือโคร่งออกมาจากป่า เนื่องจากเกรงว่ายาจะหมดฤทธิ์ โดยนำเสือโคร่งมายังสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
ตรวจสอบสุขภาพเสือโคร่งเบื้องต้นพบเป็น เสือโคร่งเพศเมีย อายุประมาณ 2-3 ปี ชื่อ 'บะลาโกล' ภาษากระเหรี่ยง แปลว่า 'คลองลาน' น้ำหนักประมาณ 80-90 กิโลกรัม ตาข้างซ้ายบอด มีบาดแผลที่กระจกตา และมีแผลขนาดเล็กที่อุ้งเท้าด้านซ้าย เหงือกค่อนข้างซีด (pale pink mucous membrane) สภาพผอม (body condition score 2-2.5) สัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ วิตามิน และยาถ่ายพยาธิ ก่อนนำขึ้นรถไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จะฟื้นฟูบำรุงร่างกายเสือโคร่งบะลาโกล ซึ่งคาดว่าประมาณ 2-3 เดือน ก่อนติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง ก่อนเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติต่อไป
ข้อมูลจาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ / กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช