ไฟป่าอุทยานออบหลวง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เสียหายแล้วกว่า 335,000 ไร่
ดาวเทียมชี้เป้าพื้นที่เผาไหม้ในเขตอุทยานออบหลวง จ.เชียงใหม่ และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เสียหายแล้วกว่า 335,000 ไร่
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 850 จุด
ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียมยังระบุอีกว่าจุดความร้อนที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 230 จุด ตามด้วยพื้นที่เกษตร 210 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 205 จุด พื้นที่เขต สปก. 118 จุด แหล่งชุมชนและอื่นๆ 84 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด สำหรับจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ 55 จุด
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่พม่า 2,247 จุด ตามด้วย กัมพูชา 955 จุด ลาว 933 จุด และเวียดนาม 109 จุด
ส่วนความคืบหน้าสถานการณ์ไฟป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง อุทยานแห่งชาติแม่โถ และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่กำลังเกิดไฟป่าลุกลามและขยายพื้นที่เป็นบริเวณกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากภาพดาวเทียม Landsat-8 ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.48 น. แสดงภาพพื้นที่เผาไหม้บริเวณรอยต่อ อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง และอำเภอแม่แจ่ม ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ถูกเผาไหม้แล้วกว่า 194,000 ไร่
ในส่วนของพื้นที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้แล้วกว่า 141,000 ไร่ จากภาพแสดงให้เห็นถึงจุดความร้อนที่เกิดขึ้นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 (จุดสีฟ้า 39 จุด) และ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 (จุดสีแดง 16 จุด) รวมพื้นที่ความเสียหายทั้งหมด 335,000 ไร่ ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่ายังคงมาจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ รวมถึงการเผาพื้นที่เกษตรก่อนเตรียมการเพาะปลูก และการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบในพื้นที่จริงร่วมกับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟู ป้องกัน และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน ข้อมูลเพิ่มเติม: ติดตามข้อมูลไฟป่าได้ที่ http://fire.gistda.or.th/