สดร. ไขปริศนา! ลูกไฟสีเขียวปรากฏเหนือท้องฟ้า คาดเป็น 'ดาวตก' ชนิด 'ลูกไฟ'
สดร. ไขปริศนา! ลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่ปรากฏเหนือท้องฟ้าเมื่อคืน คาดเป็น 'ดาวตก' ชนิด 'ลูกไฟ' พร้อมเผย 2 ปัจจัยที่ส่งผลต่อ 'สีของดาวตก'
ตามที่มีการแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย ปรากฏเป็น ลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าเป็น ดาวตก วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าเป็นแนวยาว เมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 3 ทุ่มเศษ มีผู้พบเห็นเป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่ในจังหวัดแถบภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบรี ชลบุรี สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าเป็น ดาวตกชนิดลูกไฟ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ดาวตก (Meteorite) เกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย
ซึ่งจากคลิปวิดีโอและภาพถ่ายดังกล่าว ดาวตกที่ปรากฏมีขนาดใหญ่ และสว่างมาก ความสว่างใกล้เคียงกับดาวศุกร์ จึงสันนิษฐานว่าเป็น ดาวตก ชนิด 'ลูกไฟ' (Fireball) ทั้งนี้ แสงสีเขียวของดาวตก สามารถบ่งบอกได้ว่ามีส่วนประกอบของธาตุนิกเกิล ซึ่งเป็นธาตุโลหะ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือ ดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่างๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ
สำหรับสีของดาวตกนั้น มาจากแสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น อะตอมแคลเซียม ( Ca ) ให้แสงสีออกโทนม่วง อะตอมแมกนีเซียม ( Mg ) และนิกเกิล ( Ni ) ให้แสงสีฟ้าเขียว อะตอมโซเดียม ( Na ) ให้แสงสีส้มเหลือง ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน ( O ) และไนโตรเจน ( N ) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัวดาวตกที่ร้อนจัด ซึ่งมักจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความสูงจากพื้นโลก
ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44 - 48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
An hour ago, many people in central Thailand reported a bright green fireball accompanied by loud explosive sound.
— Milky Way (@PanatpongJ) March 4, 2024
What do you think it could be? @planet4589
Video Credit: Phadaz Kmutnb pic.twitter.com/zlWs3I5jnT
Video Credit: Pana Pom pic.twitter.com/WG6KFQOBaS
— Milky Way (@PanatpongJ) March 4, 2024