'ปลิงทะเลเกาะยาว' สินค้า GI สัตว์น้ำเศรษฐกิจพังงา สร้างรายได้ 3.3 ล้านบาท/ปี
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศ ขึ้นทะเบียน "ปลิงทะเลเกาะยาว" พังงา เป็นสินค้า GI สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ตัวใหม่ ที่สร้างรายได้ 3.3 ล้านบาทต่อปี
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน “ปลิงทะเลเกาะยาว” เป็นสินค้า GI ลำดับ 4 ของ จ.พังงา ต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา, ข้าวไร่ดอกข่าพังงา และมังคุดทิพย์พังงา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ 3.3 ล้านบาทต่อปี
นางอาภรณ์ เทพพานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา ตั้งอยู่ที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา นำผู้สื่อข่าวชมการเพาะเลี้ยงปลิงทะเลเกาะยาว ภายในโรงเรือน ที่เริ่มตั้งแต่การเก็บพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ ในพื้นที่ อ.เกาะยาว มาทำการเพาะพันธ์ โดยการผสมไข่และน้ำเชื้อ จากนั้นเมื่อได้ตัวอ่อนก็นำไปอนุบาล จนได้ลูกปลิงระยะว่ายน้ำ ประมาณ 25-30 วัน แล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ
นางอาภรณ์ กล่าวว่า ปลิงทะเล ชนิดปลิงขาว กรมประมงโดยศูนย์ฯ ประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการวิจัยเพาะพันธุ์ อนุบาล ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงสู่เกษตรกรและหน่วยงานอื่นๆที่ สนใจ ศูนย์ฯ พังงา ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มา เพื่อพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลิงทะเลใน จ.พังงา
ทั้งนี้ ปลิงทะเลเกาะยาว มีความโดดเด่นเรื่องความสมบูรณ์ของตัวปลิง ขนาดใหญ่ เนื้อหนาและแน่น ความสมบูรณ์ของตัวปลิงอีกอย่างหนึ่ง สังเกตได้จาก ความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธ์ เมื่อนำมาเพาะพันธุ์ พบว่า พ่อแม่พันธุ์ปลิงมีความแข็งแรง การเพาะพันธุ์สามารถให้ปริมาณไข่และน้ำเชื้อดีมาก เมื่อเปรียบเทียบจากแหล่งอื่นๆ พบว่า พ่อแม่จากเกาะยาวคุณภาพดีที่สุด
ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้นำพ่อแม่พันธุ์ปลิงขาวจากเกาะยาว มาเพาะพันธุ์ในโรงเพาะฟัก อนุบาลเป็นระยะว่ายน้ำอายุประมาณ 25-30 วัน (ระยะโดลิโอลาเรีย) นำไปปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติในบริเวณเกาะยาว เกาะยาวน้อย เพื่อเสริมความสมบูรณ์ให้แก่แหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรสามารถเพาะพันธ์ลูกปลิง ไปเลี้ยงต่อได้เอง
ประโยชน์ของปลิงทะเล
ปลิงทะเล มีสารพิษโฮโลทูลิน แต่ไม่เป็นอันตรายกับคน สามารถบริโภคได้ ปลิงทะเลมีโปรตีนประมาณ 10-12% ความชื้น 70-80% ไขมัน 0.002-0.04% และเนื้อปลิงทะเลยังมีสารมิวโคโปรตีนที่มี Chondroitin sulfurie acid คาดว่า เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า ในเนื้อปลิงทะเล Stichopus japonicus มีมิวโคโปรตีน (mucoprotein) ปริมาณสูง ซึ่งมิวโคโปรตีนนั้น มีคอนดรอยติน ซัลฟุริค แอซิด (Chondroitin - sulfuric acid) อยู่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และจากการศึกษาในผู้สูงอายุยังพบว่า การที่กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้นั้น เนื่องจากปริมาณของคอนดรอยติน ซัลฟุริค แอซิด ลดลง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ชาวจีนนิยมรับประทานปลิงทะเลกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ทั้งนี้ คอนดรอยติน ซัลฟุริค แอซิด ตามธรรมชาติมักอยู่ในสภาพมิวโคโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ เช่น กระดูกอ่อน เอ็น และของเหลวที่หล่อลื่นตามข้อต่างๆ ดังนั้น การรับประทานปลิงทะเลก็นับว่าให้ประโยชน์แก่ร่างกายได้เช่นกัน