กตป.-กสทช.ประชุมร่วม ติดตาม - ประเมินผลทำงานปี 66
กสทช.- กตป.ประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานและการจัดทำรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2566
19 มีนาคม 2567 - พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตร ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงาน ตาม พรบ. กสทช. และ กตป. ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์คลินิก พลเอก นายแพทย์ สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กตป. ด้านกิจการ กระจายเสียง ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กตป. ด้านกิจการโทรทัศน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุทิศา รัตนวิชา กตป. ด้านกิจการโทรคมนาคม และนางสาวอารีวรรณ จตุทอง กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อนำเสนอผลสรุปผลการดำเนินงานและการจัดทำรายงานการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการ และ การบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2566 ที่ กตป. ต้องจัดทำรายงานแจ้งผลให้ กสทช. ทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี (นับจาก 31 ธันวาคม ของทุกปี) และให้ กสทช.นำรายงานดังกล่าวเสนอต่อรัฐสภาแล้วต่อไป
ประเด็นสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2566 ประกอบด้วย
(1) การติดตามและประเมินผล การบริหารการเปลี่ยนแปลงในกิจการกระจายเสียงอันเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี (Disruptive Technology)
(2) พหุนิยมและแนวนโยบายและการเตรียมการรองรับการสิ้นสุดใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ในปี 2572
(3) การเพิ่มขีดความสามารถโครงข่ายโทรคมนาคมส่งเสริมการใช้ประโยชน์โครงข่ายโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ
(4) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค
(5) การจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแห่งชาติ
(6) การบูรณาการเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) พื้นที่ชายขอบ (Zone C+) (Universal Service Obligation net, USO net) ที่ กสทช.ดำเนินการ
(7) การตีความตามบทบัญญัติข้อกฎหมายที่แตกต่างกันของ กสทช. ที่ทำให้เกิดคดีความฟ้องร้องต่อศาล
ผลการดำเนินงานและบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2566 พบว่า สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อลด ความเดือดร้อนของประชาชน ที่สำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
(1) ปัญหาที่ประชาชนถูกหลอกลวงจาก แก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิฉาชีพออนไลน์
(2) การกำกับดูแล OTT
และ (3) การสร้างเอกภาพ ความสมานฉันท์ในการทำงานร่วมกันของ กสทช. และผู้บริหารของสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ผลลัพธ์ของการทำงานบรรลุเป้าหมายขององค์กรและมีความสัมฤทธิ์ผลตามนโยบายระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลและได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน