เปิดข้อปฏิบัติแจกอาหารคนไร้บ้าน กลุ่มเปราะบาง เผยสถิติฯ ทำไม กทม. ครองแชมป์
กทม. เปิดข้อปฏิบัติแจกอาหาร "คนไร้บ้าน" จำกัด 200 ชุดต่อจุด เช็กขั้นตอนลงทะเบียน จุดแจกอาหาร พร้อมเผยสถิติคนไร้บ้าน 2566 เหตุปัจจัยสำคัญทำกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ไร้ที่อยู่อาศัย..ทำไม กรุงเทพฯ ถึงครองแชมป์อันดับ 1
"คนไร้บ้าน" ถือเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม ซึ่งด้อยโอกาสและขาดแคลนปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งงาน การเข้ารับบริการทางสาธารณสุข และสิทธิสวัสดิการด้านอื่น ๆ ที่พวกเขาควรจะได้รับ
ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกสังคมในหลายประเทศทั่วโลก มีปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน คือ
- ปัญหาเชิงปัจเจกระดับบุคคล ภาวะอาการเจ็บป่วย ติดสารเสพติด ความพิการ หรือมีอาการทางจิต
- ปัญหาเชิงระบบ สถานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระดับชุมชน
ทั้งนี้ กทม. เปิดข้อปฏิบัติในการแจกอาหารสำหรับคนไร้บ้าน การแจกอาหารจะจำกัด 200 ชุดต่อจุด เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ
จุดแจกอาหารแก่คนไร้บ้าน
- จุด Drop in 2 แห่ง ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า และตรอกสาเก
ขั้นตอนการแจกอาหาร
1. ลงทะเบียนผ่าน QR Code เพื่อเลือกช่วงเวลาและจุดแจกอาหาร
2. รอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันข้อมูลการลงทะเบียน
3. มาถึงที่จุดแจกก่อนเวลาประมาณ 30 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำ
- ติดต่อเพิ่มเติมหรือบริจาคอาหารได้ที่ 02 281 8125 ต่อ 6582
ข้อมูลสถิติการสำรวจข้อมูลแจงนับคนไร้บ้าน ปี 2566 (One Night Count)
สถิติคนไร้บ้าน 2566 กรุงเทพฯ ถึงครองแชมป์อันดับ 1
จากข้อมูลของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจข้อมูลแจงนับคนไร้บ้านครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบคนไร้บ้านจำนวน 2,499 คน
แบ่งพื้นที่จังหวัดคนไร้บ้าน 2566
- กรุงเทพมหานครสูงสุด 1,271 คน คิดเป็นสัดส่วน 50.86%
- ชลบุรี 126 คน คิดเป็น 5.04%
- เชียงใหม่ 118 คน คิดเป็น 4.72%
- ขอนแก่น 73 คน คิดเป็น 2.92%
- กาญจนบุรี 62 คนคิดเป็น 2.48%
เหตุปัจจัยสำคัญทำให้คนไร้บ้าน
- ตกงาน 44.72%
- ปัญหาครอบครัว 35.18%
ช่วงอายุที่พบคนไร้บ้านมากที่สุด
- อายุที่พบมากที่สุดคือ 45-55 ปี
ทั้งยังพบคนไร้บ้านหน้าใหม่ถึง 39 % นอกจากนี้ยังพบคนไร้บ้านมีปัญหาติดสุรา 18.1% ปัญหาสุขภาพจิต 17.9% อีกทั้งมีผู้สูงอายุไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้น 22%
สำรวจรายได้คนไร้บ้าน
เมื่อสำรวจถึงรายได้พบ 65% มีอาชีพ ส่วนใหญ่รับจ้าง รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือนเป็นรายได้ที่ต่ำและไม่สม่ำเสมอ และทั้ง 55% จบเพียงประถมศึกษา
ผลการสำรวจสะท้อนถึงสัดส่วนคนไร้บ้านสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่ม เป็นความท้าทายในกระบวนการป้องกัน และฟื้นฟูคนไร้บ้านในอนาคต
อ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , กรุงเทพมหานคร