ปภ.-กปภ.ลงนาม MOU แก้ปัญหาภัยแล้ง สูบส่งน้ำเติมน้ำต้นทุน ต่อเนื่องปีที่ 3

ปภ.-กปภ.ลงนาม MOU แก้ปัญหาภัยแล้ง สูบส่งน้ำเติมน้ำต้นทุน ต่อเนื่องปีที่ 3

ปภ. จับมือ กปภ. ลงนาม MOU ต่อเนื่องปีที่ 3 แก้ไขปัญหาภัยแล้ง สูบส่งน้ำเติมน้ำต้นทุนให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และนายจักรพงษ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ณ ห้องประชุม 1508 อาคาร 1 การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อขยายระยะเวลาความร่วมมือในการจัดหาน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำสะอาดให้ประชาชนมีอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ โดยมีผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้บริหารการประปาส่วนภูมิภาค ร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงฤดูร้อนหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำกักเก็บในแหล่งน้ำน้อย ประกอบกับเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมุ่งเน้นดูแลน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นหลัก ผ่านการสำรวจแหล่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำ และการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการจัดทำแหล่งสำรองน้ำดิบ จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนไว้รองรับการอุปโภคบริโภค รวมถึงผลิตน้ำดื่มสะอาดให้แก่ประชาชน

ปภ.-กปภ.ลงนาม MOU แก้ปัญหาภัยแล้ง สูบส่งน้ำเติมน้ำต้นทุน ต่อเนื่องปีที่ 3

“เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ลงนามความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อร่วมกันลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งแก่ประชาชน โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาค จะประเมินความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำดิบในระดับพื้นที่ และระบุพื้นที่ที่ต้องเร่งดำเนินการสูบส่งน้ำเพื่อผันน้ำมาใช้ในการผลิตน้ำ แจ้งมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะดูแลในภารกิจการสูบส่งน้ำจากแหล่งน้ำต้นทางไปเติมน้ำในแหล่งน้ำสำหรับผลิตน้ำอุปโภคบริโภคตามที่การประปาส่วนภูมิภาคได้ชี้เป้าไว้ ผ่านกลไกการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้ง 18 เขต

โดยขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในการสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยสมรรถนะสูง ได้แก่ รถบรรทุกเครื่องสูบน้ำระยะไกล อัตราสูบ 8,000 ลิตร/นาที รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำท่วม/ขัง อัตราสูบรวม 54,000 ลิตร/นาที เครื่องสูบน้ำขนาดท่อส่ง 14 นิ้ว อัตราสูบ 28,000 ลิตร/นาที รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ส่งน้ำได้ไกล 3 กิโลเมตร อัตราสูบรวม 54,000 ลิตร/นาที และรถสูบส่งน้ำระยะไกล 10 กิโลเมตร อัตราสูบ 35,000 ลิตร/นาที พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญออกปฏิบัติการร่วมกับเครื่องจักรกลสาธารณภัย” นายไชยวัฒน์ กล่าว

ปภ.-กปภ.ลงนาม MOU แก้ปัญหาภัยแล้ง สูบส่งน้ำเติมน้ำต้นทุน ต่อเนื่องปีที่ 3
 

นายจักรพงษ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า สำหรับการลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการลงนามขยายความร่วมมือฯ เป็นปีที่ 3 โดยในครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีผลผูกพันเป็นเวลา 1 ปี และได้มีการลงนามฯ เพื่อขยายระยะเวลาดำเนินการออกไปอีก 1 ปี ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งได้ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคได้กำหนดขยายระยะเวลาความร่วมมือดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี เพื่อดูแลประชาชนให้มีน้ำสะอาด มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วงที่กำลังจะมาถึง 

สำหรับความร่วมมือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและการประปาส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจของหน่วยงานทั้งสองที่มุ่งแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง ซึ่งสอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในประเด็น “น้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน” รวมถึงยังเป็นการขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ด้านน้ำต้นทุน ผ่านการเฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง วางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ