4 แรงงาน พบ แคดเมียม ในเลือดเกินมาตรฐาน กลับบ้านได้ ไม่ถึงขั้นก่อโรคอิไต อิไต
สธ. เผย 4 แรงงานสมุทรสาคร พบ แคดเมียม ในเลือดเกินมาตรฐาน ขณะนี้ปลอดภัย แพทย์ให้กลับบ้านแล้ว พร้อมติดตามอาการต่อเนื่อง ชี้ไม่ถึงขั้นรุนแรงก่อโรคอิไต อิไต
วันที่ 13 เมษายน 2567 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะได้รับมอบหมายจาก ปลัด สธ. เป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ PHEOC กรณี 'แคดเมียม' กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสและพบสารแคดเมียมในร่างกายเกินมาตรฐาน ว่า
จากข้อมูลทั้ง 4 จังหวัดที่พบ 'กากแคดเมียม' มีจังหวัดตาก จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งกทม.จะมีเจ้าหน้าที่ของ กทม.ลงไปตรวจ อย่างไรก็ตามผลการตรวจร่างกายของประชาชนและแรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อมีการตรวจอย่างละเอียด พบว่ามี 4 รายที่พบสารแคดเมียมในเลือดเกินมาตรฐาน ซึ่งไม่มีอาการอะไร แต่ล่าสุดแพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา จากนั้นก็นัดติดตามอาการอย่างต่อเนื่องไปสักระยะ
เจอสารแคดเมียมในเลือดจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
นพ.สุรโชค กล่าวว่า ต้องดูปริมาณและการคลุกคลีอยู่กับสารดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน แต่จากการตรวจสอบยังไม่พบถึงขั้นรุนแรง ซึ่งโดยปกติเมื่อไม่มีอาการทางแพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านและนัดติดตามอาการ เพราะโดยปกติสารเหล่านี้จะขับออกไปทางปัสสาวะได้ กล่าวคือจะอยู่ในเลือดได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และจะขับออกทางปัสสาวะ
ในส่วนของ เขตบางซื่อ จะเป็นในส่วนของกรุงเทพมหานครดูแล ซึ่งมีการสุ่มตรวจร่างกายประชาชนในพื้นที่และได้ให้ข้อมูลในที่ประชุม PHEOC เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างไรก็ตามทั้ง 4 จังหวัดจะมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
สารแคดเมียมในเลือด-ปัสสาวะ ต้องติดตามนานเท่าไหร่ถึงจะบอกได้ว่าปลอดภัยแล้ว
รองปลัด สธ. เผยว่า แต่ละคนจะไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามการพบในเลือดนั้นแสดงว่าเพิ่งได้รับสารไม่นาน และการพบในเลือดต้องดูประกอบอย่างอื่นด้วย ต้องดูประวัติสัมผัส ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปตรวจร่างกายคนหนึ่งโดยไม่มีประวัติสัมผัส คงไม่ได้ เพราะจริงๆ แคดเมียมอยู่ในธรรมชาติก็มี เช่น คนสูบบุหรี่ หากมีการตรวจปัสสาวะก็อาจพบสารนี้ได้เช่นกัน ซึ่งพบในอย่างอื่นได้ด้วย จึงต้องดูประวัติด้วย อย่างบางคนเจอในปัสสาวะ แต่ไม่เจอในเลือดก็มี ส่วน 4 คนนี้ที่พบเพราะมีประวัติสัมผัส
ยังไม่ถึงขั้น โรคอิไต อิไต
นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า มีปัญหาเรื่องไต ไตวาย แต่ปกติไม่เคยเจอแบบนี้ การจะเจอขนาดนี้ต้องได้รับสารมาเยอะพอสมควร แต่นี่ไม่ถึงขนาดนั้น ยังไม่ต้องกังวล เพราะหากเข้าขั้นโรคอิไต อิไต จะต้องทำงานในเหมือง ในอุตสาหกรรมนั้นแบบไม่ระมัดระวัง ซึ่งในอดีตมี แต่ปัจจุบันโรงงานต่างๆ มีการป้องกันทั้งชุด ทั้งอุปกรณ์หมดแล้ว เพียงแต่หากทำไม่ดีก็อาจพบได้ แต่ไม่ถึงกับสูงจนเกิดอาการเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานโรคอิไต อิไต ในส่วนของ สธ. ยังคงย้ำ 4 มาตรการรองรับด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้ง ด้านการเฝ้าระวังผลกระทบ ด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ด้านการรักษาพยาบาล และด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
สำหรับพิษของกากแดคเมียมต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ พิษต่อไต โดยจะมีการอักเสบที่ไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด ซึ่งการเกิดความผิดปกติของไตนี้จะเป็นแบบถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้ว ไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้
ส่วน พิษต่อกระดูก คือ แคดเมียมจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างมากโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของ โรคอิไต อิไต โดยคนกลุ่มนี้จะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย