ไทยสิ้นสุดฤดูแล้งปลายเดือนนี้ มีฝนตกเพิ่มขึ้น หลังกลางเดือน พ.ค. 67
สทนช. ระบุประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2566/67 ปลายเดือน เม.ย. นี้ และจะเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. โดยเฉพาะหลังช่วงกลางเดือนเป็นต้นไป แต่ยังคงต้องสำรองน้ำไว้สำหรับช่วงฤดูฝนป้องกันปัญหาจากฝนทิ้งช่วง
วันนี้ (24 เม.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดช่วงฤดูแล้งแล้วในสิ้นเดือน เม.ย. นี้ โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ 45,099 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 55% ของความจุ น้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วอยู่ 2% ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติจากอิทธิพลของสภาวะเอลนีโญ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนกักเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มของปริมาณฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำบางแห่งที่มีปริมาณน้ำน้อย โดยเป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนจุฬาภรณ์ รวมถึงอ่างฯ ขนาดกลางอีก 85 แห่ง ประกอบกับยังคงต้องมีการสำรองปริมาณน้ำไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากมีโอกาสเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ยังคงงดปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 โดยขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่จะมีการประชาสัมพันธ์ช่วงเวลาส่งเสริมการเพาะปลูก เพื่อป้องกันปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร
สำหรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันมีพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.บุรีรัมย์ โดย จ.บุรีรัมย์ ได้ประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ ต.บ้านตะโก อ.ห้วยราช และ ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จำนวน 3 หมู่บ้าน ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว ซึ่งในปีนี้ถือว่าภัยแล้งไม่ได้ขยายวงกว้างนัก โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ในภาคตะวันออก ซึ่งมีเกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ในวันนี้ได้มีการหารือร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ให้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดย สทนช. จะยังคงมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยในเดือน พ.ค. 67 มีแผนจะลงพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะประสบกับสภาวะลานีญา และมีความเป็นไปได้จากสถิติในเบื้องต้นว่ามีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีพายุ 1 – 3 ลูก ในปีนี้
ในส่วนของสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา เนื่องจากเหตุการณ์ทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์พังทลาย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะใน อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บ้านโพธิ์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้มอบหมายให้ สทนช. จัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา ตามมติที่ประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับเจือจางและไล่น้ำเค็ม รวมถึงมีการใช้จุลินทรีย์จากธรรมชาติ หรือ EM เพื่อบำบัดคุณภาพน้ำให้มีค่าความเค็มตามแนวทางของกรมประมง
ซึ่งได้มีการจัดทำแผนที่แสดงค่าความเค็มที่เหมาะสมในแต่ละคลอง สำหรับให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำสามารถสูบน้ำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยขณะนี้คุณภาพน้ำในแต่ละพื้นที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าความเค็มที่ตรวจวัดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 67 โดยบริเวณคลองเปร็งมีค่าความเค็มลดลงเหลือเพียง 0.88 กรัมต่อลิตร จาก 19.63 กรัมต่อลิตร ขณะที่คลองประเวศฯ มีค่าความเค็ม 6.51 กรัมต่อลิตร จาก 28.04 กรัมต่อลิตร คลองชวดพร้าว มีค่าความเค็ม 2.55 กรัมต่อลิตร จาก 14.40 กรัมต่อลิตร เหลือเพียงบริเวณคลองพระยานาคราช 1 และ 2 และคลองพระยาสมุทร ที่ยังมีค่าความเค็มสูง ซึ่งจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มประสิทธิภาพ คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในสัปดาห์นี้