ร้านธงฟ้า 1.4 แสนแห่ง พร้อมรับ ดิจิทัลวอลเล็ต เช็กเงื่อนไขใครมีสิทธิได้เงิน

ร้านธงฟ้า 1.4 แสนแห่ง พร้อมรับ ดิจิทัลวอลเล็ต เช็กเงื่อนไขใครมีสิทธิได้เงิน

ร้านธงฟ้า 1.4 แสนแห่งทั่วประเทศ พร้อมรับ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เช็กเงื่อนไขใครมีสิทธิได้เงิน และ เงินดิจิทัล ใช้ซื้ออะไรได้-ไม่ได้บ้าง

วันที่ 25 เมษายน 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมสนับสนุนให้ ร้านธงฟ้า ทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และคาดว่าจะมีร้านค้าปลีกรายย่อยและผู้ค้าปลีกที่เป็นบุคคลธรรมดาเข้าร่วมด้วย ส่วนจำนวนที่จะเข้าร่วมจะทราบแน่ชัดหลังการเปิดให้ลงทะเบียน แต่เชื่อว่าจะมีครบทุกอำเภอแน่นอน โดยการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในช่วงไตรมาส 3/2567

 

 

ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต

สำหรับการ ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของทั้งประชาชนและร้านค้าปลีกของโครงการนี้ คาดว่าจะเปิดลงทะเบียนได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 นี้ ผ่าน Super App ซึ่งการจัดทำ Super App จะใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับคณะทำงานเป็นผู้พิจารณา สำหรับแอปพลิเคชันเป๋าตังก็จะเข้าไปดูด้วยเช่นกันว่าจะนำมาต่อยอดอย่างไรได้ คาดว่าจะเริ่มใช้สิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

 

จากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปตรวจสอบร้านธงฟ้าที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการอย่างละเอียดมากขึ้น โดยปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการใช้โครงการจาก 4 กิโลเมตร เป็นอำเภอ เพื่อให้ประชาชนและร้านค้าสามารถเข้าถึงโครงการได้มากขึ้น เพราะเป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพียงครั้งเดียว และต้องใช้ภายใน 6 เดือนเพื่อให้มีการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตลาดดวงแก้ว จังหวัดนนทบุรี พบว่าร้านค้ามีความพร้อมที่จะให้บริการกับประชาชน

 

 

รายงานข่าวจาก กรมการค้าภายใน ระบุว่า ร้านค้าธงฟ้าที่กระทรวงพาณิชย์ดูแล และมีการดำเนินการอยู่รวมทั้งสิ้น 146,531 ร้านค้า โดยจังหวัดที่มีร้านค้าธงฟ้าจำนวนมาก อาทิ กรุงเทพฯ 4,445 ร้านค้า , ขอนแก่น 4,896 ร้านค้า , เชียงใหม่ 4,153 ร้านค้า , นครราชสีมา 4,916 ร้านค้า , ศรีสะเกษ 4,508 ร้านค้า , อุบลราชธานี 5,314 ร้านค้า เป็นต้น

 

สำหรับ ร้านธงฟ้า จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคโดยตรงจากผู้ผลิตในราคาประหยัด เป็นราคาที่ไม่สูงกว่าราคาตลาดในอำเภอนั้นๆ หรือในราคาที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการค้าภายใน โดยสินค้าที่จำหน่ายในร้านธงฟ้า ได้แก่

 

  • สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ เป็นต้น
  • เครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก กะปิ น้ำปลา ซอสปรุงรส เป็นต้น
  • ยารักษาโรค เช่น ยาแก้ไข ยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น
  • ธูปเทียนและเครื่องสักการะ ชุดถวายสังฆทาน เป็นต้น
  • สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น เครื่องแบบนักเรียน เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ เป็นต้น
  • สินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น
  • สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผักสด ผลไม้ อาหารสด เครื่องจักสาน เป็นต้น

 

โครงการ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใครได้สิทธิ ซื้ออะไรได้บ้าง คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่เข้าโครงการ

 

ผู้มีสิทธิได้ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  • มีสัญชาติไทย
  • อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
  • ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
  • มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

 

สินค้าอะไรที่ซื้อได้ และซื้อไม่ได้

ประชาชนสามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภท สินค้าอุปโภค-บริโภค ยกเว้น! สินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ (Negative List) ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยาสูบ, กัญชา, กระท่อม, พืชกระท่อม, ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม, บัตรกำนัล, บัตรเงินสด, ทองคำ, เพชร, พลอย, อัญมณี, น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ

 

เงื่อนไขการใช้จ่าย

1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า

  • ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ 878 อำเภอ การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า

  • ร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า


คุณสมบัติ-เงื่อนไขร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

คุณสมบัติและเงื่อนไขของร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้

1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT) หรือ

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax : PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

 

ร้านธงฟ้า 1.4 แสนแห่ง พร้อมรับ ดิจิทัลวอลเล็ต เช็กเงื่อนไขใครมีสิทธิได้เงิน