ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจ เอกชนจ่อขยับราคาสินค้า 15% หลังขึ้นค่าแรง 400 บาท
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจภาคเอกชนขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้น 400 บาทต่อหัว ราคาสินค้าจ่อขยับอีก 15% ภายใน 1-3 เดือน ทำผู้ประกอบการเกินเตรียมใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ลดปัญหาการจ้างแรงงานแพง
วันนี้ (29 เม.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงแรงงาน ได้ปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดในธุรกิจโรงแรม และเตรียมทยอยขึ้นค่าแรงในธุรกิจ ทั่วประเทศภายในปี 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการสำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ
สำหรับผลเชิงบวก เมื่อผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย สามารถกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภครายได้น้อยให้ดีขึ้น และยังกระตุ้นการผลิตและการลงทุน นอกจากนี้ผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นอาจช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า เมื่อต้นทุนต่อหน่วยลดลง จะช่วยให้สินค้าในประเทศแข่งขันได้มากขึ้น
และเมื่อค่าแรงสูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงาน หากผลิตภาพเพิ่มมากกว่าต้นทุนค่าแรง จะช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ เช่น สหราชอาณาจักร (UK) ปี 2542 ผลิตภาพเพิ่ม 11-14% แต่เงินเฟ้อเพิ่มจำกัด
ขณะที่ผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง เช่น ฝรั่งเศส ปี 2543 ที่ขึ้นค่าแรงมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน และถ้าผลิตภาพไม่เพิ่มตามค่าแรง ความสามารถแข่งขันอาจลดลง กระทบการส่งออกและ GDP
อีกทั้งนายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ และต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า เอกชนสัดส่วน 64.7% จะปรับราคาสินค้าและบริการประมาณ 15% ขึ้นไป
ผู้ประกอบการสัดส่วน 17.2% คือการลดปริมาณซึ่งนี่เป็นแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ และมีแนวโน้มที่จะนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน สัดส่วน 11.5% เพราะกำลังการผลิตของแรงงานไม่สามารถเทียบเท่ากับเครื่องจักรได้ และเครื่องจักรมีความแม่นยำ ถูกต้องกว่าแรงงานคน
ทั้งนี้การขึ้นค่าแรง 400 บาท ผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน
ด้านผลสำรวจทั่วประเทศของผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จาก 1,259 ตัวอย่าง ได้มีความคิดเห็นว่า ในกรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงได้อย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3% ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย
สำหรับความกังวลต่อการขึ้นค่าแรง ปู้ประกอบการมีความกังวลกว่า 48.7% เนื่องจากมีภาระต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของแรงงานยังเท่าเดิม ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จริง แต่ภาระต้นทุนอื่น ๆ ของภาคธุรกิจยังสูง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการกำหนดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต ควรร่วมกันหารือกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำที่เหมาะสมและต้องมีการประเมินในหลาย ๆ มิติ ส่งเสริมมาตรการทางการเงินและการอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจรายเล็ก ช่วยเหลือภาระต้นทุนด้านอื่น ๆ เช่น ปัจจัยการผลิต ค่าสาธารณูปโภค ราคาน้ำมันให้ลดลง