ประวัติวันหยุด วันแรงงาน 1 พ.ค. ความสำคัญผู้ใช้แรงงาน สิทธิแรงงานต้องรู้
ประวัติวันหยุด "วันแรงงาน" 1 พฤษภาคม ให้ความสำคัญผู้ใช้แรงงาน พัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ สิทธิชอบธรรม ฝ่ายผลิต-ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศ-"ให้คำตอบ" ทำไมไม่เป็นวันหยุดราชการ 2567 พร้อมข้อกฎหมาย สิทธิแรงงาน นายจ้าง-ลูกจ้างต้องรู้ ฝ่าฝืนกฎหมายมีความผิดในบทลงโทษ
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พามาเปิดประวัติวันหยุด "วันแรงงาน" 1 พฤษภาคม ยกย่อง ให้ความสำคัญผู้ใช้แรงงาน พัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ สิทธิชอบธรรม เป็นฝ่ายผลิตในการผลักดันและช่วยส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ และ "ให้คำตอบ" ทำไมวันแรงงานไม่เป็นวันหยุดราชการ 2567 พร้อมส่องดูข้อกฎหมาย สิทธิแรงงาน ที่นายจ้าง และลูกจ้างต้องรู้ ฝ่าฝืนกฎหมายมีความผิดในบทลงโทษ
เปิดประวัติวันแรงงานสากล (May Day)
ในอดีตประเทศในแถบยุโรปจะถือเอา วันเมย์เดย์ หรือ 1 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม ในวันนี้จะพิธีเฉลิมฉลอง ขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข การเฉลิมฉลองนี้จะมีการให้ดอกไม้ร้องเพลงและเต้นรำไปรอบ ๆ เสาเมย์โพล (Maypole) เป็นการเต้นรำรอบเสาที่ประดับไปด้วยช่อดอกไม้ และริบบิ้น
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1886 แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงให้ทบทวนสิทธิของแรงงานด้านอื่นๆ จนมีการชุมนุมประท้วงและเกิดการจลาจลขึ้นนำไปสู่ความสูญเสีย
จนกระทั่งต่อมาได้มีการทำข้อตกลงด้านจ้างงานอย่างเป็นธรรม และมอบสวัสดิการที่เหมาะสมทั้งด้านความปลอดภัย รวมถึงด้านสุขภาพให้แก่ผู้ค้าแรงงาน และนำไปสู่การกำหนดให้ วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานสากลหรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day) นั่นเอง
ประวัติวันแรงงานแห่งชาติ ในประเทศไทย
วันแรงงานแห่งชาติ ในประเทศไทย ถูกพูดถึงครั้งแรกในปี พ.ศ 2475 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ.2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วันแรงงาน" ในปี พ.ศ.2500
โดยในยุคแรกๆนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม กระทั่งในปี พ.ศ.2517 ทางการไทยได้มีการพิจารณาให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันหยุดของผู้ใช้แรงงานเพื่อให้ได้มีช่วงเวลาเฉลิมฉลองและพักผ่อนในที่สุดจนถึงปัจจุบัน
"ให้คำตอบ" ทำไมวันแรงงานไม่เป็นวันหยุดราชการ 2567
วันแรงงาน จะไม่นับว่าเป็นวันหยุดราชการซึ่งหน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานหรือให้บริการตามปกติ ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนต่างๆจะมีการหยุดงาน รวมไปถึง ธนาคาร ที่จะมีการปิดทำการ ยกเว้นสาขาในห้างฯที่อาจจะเปิดทำการบ้างในบางแห่ง
โดยถ้าทำความเข้าใจตามนิยามของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 "ข้าราชการ" ไม่ถือเป็นแรงงานประกอบกับวันแรงงานไม่ถือเป็น "วันหยุดราชการ" ดังนั้น หน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงาน ข้าราชการจึงไม่ได้หยุดในวันแรงงานและต้องปฏิบัติหน้าที่ให้บริการตามปกติ
ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้นที่จะได้หยุดซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ว่า นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติและต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากับวันทำงาน
ข้อกฎหมาย การคุ้มครองแรงงาน "สิทธิแรงงาน" ที่นายจ้าง และลูกจ้างต้องรู้ ฝ่าฝืนกฎหมายมีความผิดในบทลงโทษ
1. เวลาทำงานปกติ
- ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์งานอันตรายตามที่กำหนดในกฏกระทรวง
- ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2. เวลาพัก (ระหว่างการทำงานปกติ)
- ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม.ติดต่อกัน หรืออาจตกลงกันพักเป็นช่วงๆก็ได้แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน
- กรณีทำงานล่วงเวลา ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ต้องจัดให้ลูกจ้างพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที
3. วันหยุด
- วันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
- วันหยุดตามประเพณี : ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป
- วันหยุดพักผ่อนประจำปี : ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีต่อๆไปได้
4. การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด
กรณีที่งานมีลักษณะต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้าง ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้
ส่วนกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และกิจการอื่นตามที่กระทรวงจะได้กำหนดนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานใน วันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆไป
ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า สองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที ก่อนที่ลูกจ้างเริ่ม ทำงานล่วงเวลา
(ยกเว้นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน)
6. ค่าตอบแทนในการทำงาน
ค่าจ้าง : จ่ายเป็นเงินเท่านั้น จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้ากำหนดเวลาทำงานปกติเกิน 9 ชม./วัน ให้จ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้าง
ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนสำหรับการทำงานที่เกิน 9 ชม.ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันทำงาน และในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด
ค่าจ้างในวันหยุด : จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ยกเว้นลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์
ค่าจ้างในวันลา
- จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี
- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อทำหมัน
- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกิน 60 วัน/ปี
- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 45 วัน/ครรภ์
7. ค่าชดเชย
- ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
ในกรณีที่นายจ้างจะ "เลิกจ้าง" บอกเลิกลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่ายหรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
หากไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย
อ่านรายละเอียดกฎหมายแรงงานที่ต้องรู้ (คลิก)
"สิทธิแรงงาน" ที่นายจ้าง และลูกจ้างต้องรู้ ฝ่าฝืนกฎหมายมีความผิดในบทลงโทษ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 มาตรา 29 กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน
โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย จึงขอชี้แจงการปฏิบัติเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน
หากนายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างหยุดงานได้ต้องทำอย่างไร?
กรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากมีลักษณะงานที่จำเป็นหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดอาจจะเสียหายแก่งาน เช่น งานในกิจการโรงแรม ร้านขายอาหาร สถานพยาบาล งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง เป็นต้น ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดชดเชยวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง
อัตราจ่ายค่าจ้างในวันหยุด วันแรงงานแห่งชาติ
กรณีที่ตกลงกันว่าจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ
สำหรับกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ
บทลงโทษ ข้อกฎหมายหากนายจ้างฝ่าฝืน
- นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อ้างอิง : กระทรวงแรงงาน