เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

AI ไม่ปลอดภัย 100% เสวนา 'เสรีภาพสื่อยุค AI' เตือนภัยเงียบหลอกให้เชื่อ ทั้งภาพ-เสียง หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องบอลรูมชั้น 7 อาคารบางซื่อจังชั่น ถ.กำแพงเพชร 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ UNESCO และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาที่กรุงเทพ จัดงานเสวนา หัวข้อ “เสรีภาพสื่อในยุค AI” เนื่องใน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อให้เป็นวันที่กระตุ้นให้ประชาชนและรัฐบาลทั่วโลก เล็งเห็นความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชน

 

 

โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ นายชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนางสาวกนกวรรณ เกิดผลานันท์ หัวหน้าข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

ChatGPT เติบโตรวดเร็ว

 

เริ่มที่ ดร.สิขเรศ กล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงสิทธิเสรีภาพ เราจะพูดถึงการสื่อสารโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ ทั้งการเมือง และเศรษฐกิจ แต่หัวข้อเรื่องเทคโนโลยีในวันนี้จะสามารถเข้ามาแทรกแซงเสรีภาพของสื่อมวลชนได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้เราอยู่ภายใต้ระบบนิเวศน์ใหม่ของสื่อที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติทั้งนั้น ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก อย่าง ChatGPT ที่เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าโซเชียลมีเดีย ทำให้วิถีการทำงานของสื่อจะเปลี่ยนแปลง โดยมีตัวแปรสำคัญอย่าง AI หรืออัลกอริทึมที่เข้ามา ก็เป็นโครงสร้างพื้นที่แบบใหม่เข้ามาในระบบนิเวศน์ของสื่อ

 

ดร.สิขเรศ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะในปี 2022-2024 AI เข้ามามีบทบาทอย่างไร ซึ่งตนจะใช้คำว่า AI Journalist 101 หรือเรียกว่า วารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ 101 เข้ามามีบทบาทใน 7 บริบท ประกอบด้วย 1.Data Gathering หรือการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร 2.News - Script Writing หรือการเขียนสคริปต์ข่าว 3.Fact-checking หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง 4.Audience Engagement หรือการมีส่วนร่วมของผู้ชมมากยิ่งขึ้นทุกวัย 5.Automated Translation หรือการแปลอัตโนมัติ 6.Personalized News - Content - Ads Delivery หรือข่าวส่วนบุคคล เนื้อหา การแสดงโฆษณา และ 7.Automated Video - Audio Production & Editing หรือวิดีโออัตโนมัติ การผลิตและการตัดต่อเสียง

 

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

 

 

ใช้ AI เข้ามาทำงานมากขึ้น

 

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า เราคงตื่นเต้นกับข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศที่มีการประกาศเลย์ออฟพนักงานลง เพื่อทดแทนด้วยระบบ AI นอกจากนี้ AI ยังเข้ามามีบทบาทในการพากษ์เสียงไฮไลท์ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน หรือการจัดรายการวิทยุก็มีการใช้ AI เข้ามาร่วม ไม่ใช่แค่นั้นแต่ในฝั่งฮอลลีวูดพบว่ามีการประท้วงมาแล้ว เพราะจะมีการใช้ AI มาสร้างเป็นนักแสดงหรือตัวประกอบอันใกล้นี้

 

“แม้กระทั่ง Deep Fake ก็มี AI มีส่วนเข้ามา และมีคนที่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงและนำไปแชร์ต่อไป ที่ผ่านมาผมเคยไปดูงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีการใช้ AI เข้ามาตัดต่อ หรือจำลองภาพวงเกิร์ลกรุ๊ปเข้ามาได้สบาย รวมถึงในสตูดิโอก็มีการสั่งการทำงานของกล้องด้วย AI หรือในวงการผู้ประกาศข่าวมีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 2018-2019 แล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ประกาศยุคนี้ไม่ใช่แค่ตัวอวตารที่อยู่ในจอเท่านั้น แต่สามารถสร้าง AI อวตารที่มนุษย์สามารถตอบโต้กับ AI ตัวนั้นได้” ดร.สิขเรศ กล่าว

 

สื่อไทยใช้ AI ต่อเนื่อง

 

ดร.สิขเรศ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในวงการข่าวของไทยในส่วนของ “ไทยพีบีเอส” ก็มีการประกาศวิสัยทัศน์ไปแล้วในการทดลองใช้ AI รวมถึงสถานี mono29 หรือ Nation tv ที่ใช้ AI เป็นผู้ประกาศ แต่สิ่งสำคัญเชื่อว่าอาจมีการใช้ AI ในภาคการเมืองเกิดขึ้นในการเลือก  สว.เพื่อผลิตผลงานในการหาเสียง

 

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่จะเห็นว่า ทั่วโลกจะมีแนวโน้ม 2 ประการ 1.สื่อมวลชนมีการร่วมมือกับบริษัท AI อย่างเปิดเผย เช่น AP หรือ 2.ตั้งหน่วยงานของตัวเองขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบ AI เช่น นิวยอร์กไทม์ ทำให้โจทย์สำคัญหลังจากนี้ จะทำให้การกำกับดูแลมีความสำคัญอย่างไร เพราะมีการใช้ AI สร้างภาพปลอมขึ้นมา และมีคนที่พร้อมจะเชื่อข้อมูลส่วนนี้เช่นกัน

 

ยก 5 กรณีศึกษานานาชาติ

 

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องมีการศึกษา 5 กรณีศึกษานานาชาติ ต่อแนวปฏิบัติการใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ในงานข่าวและสื่อสร้างสรรค์ ประกอบด้วย

 

1. กรณีศึกษา สำนักข่าว AP - Associated Press (1846) : “Standards Around Generative AI” (16 สิงหาคม 2023)

 

2. กรณีศึกษาหลักการเบื้องต้น 3 ประการในการนำนวัดกรรม Generative Al มาใช้ในงานข่าวและการนำเสนอ ข้อมูลรายการของ BBC “Generative Al at the BBC” (ตุลาคม 2023)

 

3. กรณีศึกษา “Paris Charter on Al in Journalism” ธรรมนูญว่าด้วยการใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ในงานวารสารศาสตร์และงานข่าว โดย Reporters Without Borders ร่วมกับ 17 องค์กร-สำนักข่าว คณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารและผู้สื่อข่าวทั่วโลก (ธันวาคม 2023)

 

4. กรณีศึกษา AI @ Thomson Reuters (2023) “Data and Al Ethics Principles” จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์แนวปฏิบัติการใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทหรือสำนักข่าวในเครือ Thomson Reuters

 

5. กรณีศึกษานโยบายของ WIRED ในการนำนวัตกรรม Generative AI มาใช้ในการรายงานข่าว บทความ ภาพประกอบ (22 พฤษภาคม 2023) “How WIRED Will Use Generative Al Tools”

 

หนุนออกแนวปฏิบัติตรวจสอบ AI

 

“เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่ออยู่ภายใต้ระบบนิเวศน์ใหม่ที่เทคโนโลยี AI เข้ามา ทำให้ผู้ควบคุมก็มีส่วนสำคัญในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่สุดท้ายเราจะมีวิธีการควบคุมอย่างไรเท่านั้น” ดร.สิขเรศ กล่าว

 

ดร.สิขเรศ กล่าวด้วยว่า ในแวดวงสื่อมวลชนยังเชื่อมั่นในสมาคมสื่อฯ ที่ต้องออกแนวปฏิบัติของตัวเองขึ้น อาจจะเริ่มต้นแนวปฏิบัติ 4-5 ข้อเพื่อตรวจสอบข้อมูลหรือการใช้ AI รวมถึงการเขียนที่มาของงานชิ้นนั้นว่ามาจาก AI หรือไม่ นอกจากนี้ อาจจะมีร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต AI ในการพัฒนา AI ไปด้วยกัน

 

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

 

จับตา AI ปัญหาใหญ่ของโลก

 

พล.อ.ต.อมร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ไม่จริงถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลกนี้ โดย The World Economic Forum มองว่าอีก 2 ปีปัญหานี้จะขึ้นเป็นเป็นอันต้นของโลก นอกจากปัญหาภาวะโลกร้อนหรือโรคอุบัติใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มี AI ควบคุมมานานแล้วในระบบไซเบอร์ แต่ในปีนี้มีกระบวนการพัฒนามากกว่าเดิม อาทิ Deepfake ที่มีภาพและเสียงแบบเรียลไทม์ แต่ต่อไปเชื่อว่าจะมี AI เป็นหน้า เสียง และสามารถคุยกับเราได้ด้วย

 

“เมื่อมีปัญหาขึ้นมาทำให้คนจะมองได้ 2 แบบ 1.เป็นพัฒนาการโดยให้คนตัดสินใจเอง หรือ 2.ต้องเข้าไปกำกับดูแลหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าจะมองฝั่งไหนทั้งในเรื่องเสรีภาพการนำเสนอ หรือเสรีภาพในการเลือกจะเชื่อสื่งเหล่านี้ ส่วนอีกด้านก็สนับสนุนให้ต้องมีการรควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้” พล.อ.ต.อมร กล่าว

 

หนุนสื่อฯช่วยตรวจสอบข้อมูล

 

พล.อ.ต.อมร กล่าวอีกว่า ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนถือว่ามีความสำคัญจะบอกว่าสิ่งไหนจริงหรือไม่จริง แต่ที่น่ากลัวคือการนำความจริงมาปะปน หรือการเล่าไม่หมดที่จะมาในแนวทางของ Clickbait ซึ่งอัลกอริทึมจะชอบที่มีคนมาคอมเมนต์หรือกดไลค์เยอะๆ ซึ่งเป็นใครที่สามารถทำแบบนี้ได้เพื่อล่อให้คนมาคอมเมนต์ ซึ่งในเรื่องนี้สื่อมวลชนต้องคอยตรวจสอบข้อมูลให้ประชาชนว่า สิ่งไหนจริงหรือไม่

 

“อยากให้มีเสรีภาพในการเชื่อให้เหมาะสม และอยากให้มีเสรีภาพทางความคิดว่าสิ่งนั้นใช่หรือไม่ นอกจากนี้ AI เหมือนจะมาเปลี่ยนแปลงโลก จากเดิมที่มีหนังสือพิมพ์น้อยลง ตั้งแต่มีอินเทอร์เนตเข้ามาเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นสื่อไทยเตรียมตัวแค่ไหนก็คลื่นของความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา เพราะต้องรู้อย่างสนิทไม่ใช่ผิวเผิน เพื่อให้เรารู้จัก AI อย่างเข้าใจ”  พล.อ.ต.อมร กล่าว

 

พล.อ.ต.อมร กล่าวอีกว่า มนุษย์ต้องตรวจสอบ AI ในฐานะเครื่องมือ เมื่อนำ AI ไปใช่ก็ต้องมีความรับผิดชอบตามไปสื่อด้วย เพราะต่อไปจะพบปัญหาถูกหลอกจากเนื้อหา ภาพเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ประกาศจะตกงานก็คิดว่าไม่มีทาง เนื่องจากไม่มีอะไรทดแทนมนุษย์ได้ในการอ่านข่าวได้อารมณ์ เพราะ AI คาดจินตนาการ

 

AI ไม่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์

 

ด้านนายชัชวาล กล่าวว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนมีบมบาทสำคัญมากในการให้ความรู้กับประชาชน เพราะยังมีประชาชนบางกลุ่มแยกแยะข้อมูลไม่ออกว่า สิ่งไหนจริงหรือไม่จริง ทำให้สื่อมวลชนจะเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ เพราะทุกวันนี้ใครก็เป็นสื่อฯได้ หรือทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันให้ความรู้ประชาชนตรงนี้ เพราะการที่ AI สร้างข้อมูลออกมาได้ ก็ต้องให้สื่อมวลชนเพิ่มกลไกในการตรวจสอบความถูกต้องตามไปด้วย นอกจากนี้จะต้องมีการขอความร่วมมือหรือไม่กับคนที่สร้าง AI หรือนำ AI ไปใช้ โดยศึกษาจากกรณีในต่างประเทศอย่างยุโรป เพราะอย่างไร AI ก็ไม่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์

 

นายชัชวาล กล่าวอีกว่า ทุกวงการจะมี AI เข้ามามีบทบาทด้านใดด้านหนึ่ง ทุกวงการจะต้องมีการพูดคุยว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อการใช้งาน AI เพราะถือว่า AI มีผลกระทบทางบวกและทางลบมากขึ้นเรื่อยๆ  อย่าไปไว้ใจหรือวางใจ AI 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันจะเขียนร้อยเรียงข้อความให้เราประทับใจ แต่มันอาจจะใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องไปด้วยได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าจะใช้งานก็ต้องตรวจสอบเรื่องพวกนี้ด้วย

 

เทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น

 

ด้านนางสาวกนกวรรณ กล่าวว่า คิดว่าเรื่อง AI คนรุ่นใหม่จะเข้าใจได้อย่างดี เพราะสามารถใช้ AI ช่วยได้อย่างเช่น เขียน Resume ใน Gemini นอกจากนี้ในหลายสื่อต่างประเทศก็มีการใช้ AI สรุปบทความเป็น Bullet point รวมถึงการใช้ AI เปลี่ยนเสียงเป็นข้อความ ซึ่งนักข่าวจะใช้เวลานานในการแปล ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสื่อต่างชาติชาวมาเลเซียเขาก็บอกว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมี AI ที่ชื่อว่า Foiabot ซึ่งจะช่วยเขียนคำฟ้องและสามารถเข้าใจกฎหมายได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้ง และ AI ยังสามารถเปลี่ยน Text เป็น Data ได้ซึ่งเหมาะกับการทำข่าวสืบสวนสอบสวน

 

AI ก้าวหน้าต้องยิ่งตรวจสอบ

 

ขณะที่ นางสาวกนกวรรณ กล่าวด้วยว่า ในอนาคตสื่อมวลจะใช้ AI อย่างไร อย่าง เนชั่น กรุ๊ป ก็มีผู้ประกาศ AI ผู้หญิงออกมาแล้ว ชื่อว่า “ณัชชา” และต่อไปจะมีผู้ประกาศผู้ชายออกมา  รวมถึงในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจก็สามารถแปลข่าว 3 ภาษาแล้ว (ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ) ถึงอาจจะแปลภาษาไม่ตรงบ้าง แต่เรื่องเทคโนโลยียังต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามในฐานะการมีกองบรรณาธิการยังเชื่อว่า ยิ่ง AI ก้าวหน้ามากเท่าไหร่ ต้องเน้นความเป็นมนุษย์ในการตรวจสอบความถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น

 

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

 

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

 

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

 

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน

 

เสวนา เสรีภาพสื่อยุค AI เตือนภัยเงียบ ! หนุนสื่อฯสร้างกลไกตรวจสอบให้ประชาชน