ประวัติ วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันมหามงคลปวงชนชาวไทย
เปิดประวัติ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม ความสำคัญวันฉัตรมงคล วันมหามงคลปวงชนชาวไทย น้อมรำลึกพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีมาหลายยุคหลายสมัย
วันฉัตรมงคล 2567 เปิด "ประวัติ วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม ความสำคัญวันฉัตรมงคล วันมหามงคลปวงชนชาวไทย น้อมรำลึกพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีมาหลายยุคหลายสมัย
ซึ่งวันฉัตรมงคล 2567 ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ได้กำหนดให้เป็น วันหยุดราชการ โดยวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ยังเป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคลอีกด้วย ทำให้มีวันหยุดยาวเพิ่มเป็น 3 วันรวมวันเสาร์ และอาทิตย์
เช็กปฏิทินวันหยุดพฤษภาคม 2567 วันหยุดราชการ วันจ่ายเงินสวัสดิการ วันหวยออก วันสำคัญได้ที่นี่ (คลิก)
เปิดประวัติ "วันฉัตรมงคล 2567 " 4 พฤษภาคม
วันฉัตรมงคล คือ วันที่รำลึกถึงพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดย "วันฉัตรมงคล" จะถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562
ต่อมามีกำหนดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ซึ่งในปีต่อๆไป ให้ถือว่าวันดังกล่าวนี้เป็น "วันฉัตรมงคล" และถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
วันฉัตรมงคล (Coronation Day) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ซึ่งจะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก
มีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นขั้นตอนตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ ด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ
- พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
ย้อนดูประวัติศาสตร์ วันฉัตรมงคล กำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก
สำหรับ พิธีบรมราชาภิเษก เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของ "ศาสนาฮินดู" และ "ศาสนาพุทธ" เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อป่าวประกาศให้เหล่าเทวดาฟ้าดินรับรู้ว่า บัดนี้จะมีพระมหากษัตริย์หรือพระผู้เป็นเจ้าเกิดขึ้นอีกพระองค์หนึ่งแล้ว
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบไปด้วย
- พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก
- พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก
- พระราชพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์
- การสถาปนาพระราชินีและพระราชวงศ์
ส่วน พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง
ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์จะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี
พิธีบรมราชาภิเษก เริ่มมีตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พิธีบรมราชาภิเษก ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุม ของพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าการประกอบพระราชพิธีในสมัยนั้น มีขั้นตอนอย่างใด
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อ พ.ศ.2325 ครั้งหนึ่งก่อน แล้วทรงตั้งคณะกรรมการ
โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน แล้วตั้งแบบแผนพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นตำรา
จากนั้น จึงทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของรัชกาลต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาลก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยให้เหมาะแก่กาลสมัย
ส่วนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์และโบราณราชประเพณี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูลของพราหมณ์และราชบัณฑิตขณะถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (วันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก) และในปีถัดไปจึงถือว่าวันนี้เป็นวันฉัตรมงคล
อ้างอิง : phralan , กระทรวงวัฒนธรรม