Class Action : ฟ้องคดีไปเป็นกลุ่ม | พิเศษ เสตเสถียร
เมื่อวันพุธที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปร่วมเสวนาในงานเปิดตัวหนังสือ "Class Action การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตัวอย่างคดีหลักทรัพย์" ของ ศ.พิเศษ ธานิศ เกศวพิทักษ์ และ รศ.ดร.ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ มีข้อสังเกตจากการเสวนาที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง
หนังสือเล่มนี้เป็นคำบรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ
ถ้าเราไปซื้อรถยนต์มาคันหนึ่งใช้ไปสักพักปรากฏว่า รถมีอาการสั่น กระตุก เร่งไม่ขึ้น มีเสียงดังผิดปกติ ฯลฯ คนอื่นที่ซื้อรถยนต์รุ่นเดียวกันนั้นก็พบอาการอย่างเดียวกันตามปกติเรากับผู้ซื้อคนอื่น ๆ ก็ต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายกันเอาเองคดีใครคดีมัน
แต่การที่มีกฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ จึงทำให้ผู้ซื้อรถยนต์ทั้งหมดสามารถฟ้องรวมกันเป็นกลุ่มดำเนินคดีไปทีเดียวได้พร้อมกัน กลายเป็นคดีดังที่ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์ฟอร์ดร่วมกันฟ้องบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งนับเป็นคดีแรกในประเทศไทยที่เป็นการฟ้องแบบรวมกลุ่ม
Class action หรือ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงทำให้โจทก์ทุกคนสามารถรวมกันฟ้องเป็นคดีเดียวได้ กระบวนการพิจารณาและการสืบพยานหลักฐานก็สามารถทำได้ในครั้งเดียว ไม่ต้องไปแยกทำเป็นคดี ๆ ไปอย่างแต่ก่อน
ในการเสวนาดังกล่าวได้ยกเอาคดีหลักทรัพย์มาเป็นตัวอย่าง เช่น ความผิดตาม ม.240 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่เป็นความผิดฐานบอกกล่าวเกี่ยวกับฐานะการเงินที่เป็นเท็จ ก.ล.ต. ก็ต้องเอาเรื่องโดยการฟ้องคดีอาญาไป นักลงทุนก็ต้องไปฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย
ตามปกติถ้ามีการฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งอย่างนี้ กฎหมายจะให้คดีแพ่งต้องรอคดีอาญาให้ศาลในคดีอาญาได้พิพากษาเสียก่อนว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง เมื่อศาลอาญาได้พิพากษาแล้วจึงมาเริ่มพิจารณาคดีแพ่งตามข้อเท็จจริงที่ศาลได้พิพากษาแล้วในคดีอาญา
แต่ถ้าเป็นการดำเนินคดีแบบ Class action ก็จะไม่ต้องรอให้ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาก่อน ศาลแพ่งสามารถพิจารณาไปได้เลย
ศ.พิเศษ วิชัย อริยะนันทกะ ผู้เข้าร่วมการเสวนาท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า มีคำพิพากษาฎีกาได้วางหลักไว้ว่า ในคดีแพ่งนั้นการสืบพยานไม่จำเป็นต้องสืบให้ได้จนปราศจากข้อสงสัยอย่างในคดีอาญา เพียงแต่ให้ดูว่าพยานหลักฐานนั้นเจือสมไปยังคู่ความฝ่ายใด แม้ไม่ถึงปราศจากข้อสงสัยก็ให้ฝ่ายนั้นชนะคดีได้
ซึ่งก็แปลว่า ในการฟ้องคดีแพ่งแบบรวมกลุ่ม นอกจากไม่ต้องรอคดีอาญาให้ตัดสินก่อนแล้ว การสืบพยานหลักฐานก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องให้ถึงขั้นปราศจากข้อสงสัยอย่างในคดีอาญาด้วย
ส่วนข้อจำกัดในการหาพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เพราะเหตุว่าเป็นเอกชน มิได้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่จะมีอำนาจไปขอพยานหลักฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธนาคารได้
ศ.พิเศษ ธานิศ ก็ได้ให้ทางแก้ไขไว้ว่า พอฝ่ายโจทก์รวบรวมพยานหลักฐานจนพอฟ้องได้แล้ว ก็อาจขออำนาจศาลเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ก็จะช่วยให้ฝ่ายโจทก์สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
Advisory Committee ของ Rule 23 (ซึ่งเป็นกฎของ Class action ในประเทศสหรัฐอเมริกา) เคยบอกไว้ว่า “a fraud perpetrated on numerous persons by the use of similar misrepresentations may be an appealing situation for a class action…”
Class action หรือการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้เสียหายในคดีหลักทรัพย์และคดีผู้บริโภคอื่น ๆ ในประเทศไทย.