คืบ! ไฟไหม้ถังสารเคมี มาบตาพุด เผยยอดบาดเจ็บ-เสียชีวิต รมว.สธ. สั่งดูแลปชช.
สมศักดิ์ ห่วงผลกระทบหลังเกิดเหตุ ไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี มาบตาพุด สั่ง สธ. ดูแลเฝ้าระวังสุขภาพปชช. ชี้ แก๊สโซลีน สุดอันตราย หาก ปวดหัว-คลื่นไส้-เลือดกำเดาไหล ให้รีบหาหมอด่วน!
วันนี้ (9 พฤษภาคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวถึงกรณีเหตุ ไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี แก๊สโซลีน ที่ มาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า ตนได้รับรายงานจากสาธารณสุขจังหวัดระยอง ว่าได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ PHEOC เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว พร้อมได้มีการดำเนินการในเบื้องต้นคือ เร่งสื่อสารเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังให้กับผู้นำชุมชนและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง รวมถึงให้โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ รพ.สต.ในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังได้มีการประสานศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบแล้ว
อันตราย สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน
ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis Gasoline) เป็นสารผสม จึงเกิดพิษต่อระบบหลายระบบ ได้แก่ ระบบหายใจ หัวใจ และระบบประสาทอย่างรุนแรง โดยอาการที่เกิดขึ้นของผู้ได้รับผลกระทบ คือ ปวดหัว คลื่นไส้ และอาจกดทับประสาทถึงขั้นหมดสติ รวมถึงอาจระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้ลำสัก-อาเจียน ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการคัน และระคายเคืองต่อจมูก อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหล ซึ่งหากพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้สถานที่เกิดเหตุมีอาการลักษณะดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที
รมว.สธ. กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการป้องกันหลังเกิดเหตุ โดยหลังอพยพให้เปิดประตู-หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ถอดเครื่องนุ่งห่มและล้างด้วยน้ำสะอาด พร้อมล้างตาด้วย Normal saline ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น ตนมีความห่วงใยถึงผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก จึงกำชับให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เร่งลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด
เผยจำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต
น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เหตุถังน้ำมันดิบในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดระเบิด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 4 ราย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 ลงติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยมีการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านบริหารจัดการ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ระยอง เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ PHEOC เพื่อติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ และสนับสนุนการดำเนินการ ด้านการแพทย์ ดูแลผู้บาดเจ็บรวม 5 ราย (เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 3 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย) นำส่ง รพ.กรุงเทพ ระยอง 3 ราย (เสียชีวิต 1 ราย จากแผลไฟไหม้/สูดดมควัน อีก 2 ราย เป็นแผลไฟไหม้) นำส่ง รพ.ระยอง 1 ราย ตกที่สูงและมีแผลไฟไหม้ อีก 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย ปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุ มีรพ.เฉลิมพระเกียรติฯ เตรียมห้องฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์เพิ่มเติม
คร. ลงพื้นที่ให้คำแนะนำประชาชน
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) มอบหมายให้ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี ลงพื้นที่เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ถังบรรจุ PYROLYSIS GASOLINE บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นขณะนี้กลุ่มควันสงบลงแล้ว ซึ่งควันดังกล่าวหากประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงสูดดมเข้าไปอาจมีอาการแสบคอ และหากสูดดมในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ จึงขอแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากาก N95 เป็นอย่างน้อยเพื่อป้องกันไว้ก่อน และให้รีบออกห่างจากพื้นที่เกิดเหตุอย่างน้อยรัศมีประมาณ 2 กิโลเมตรขึ้นไป
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นหากเกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน
1. หากเกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน ห้ามระงับเหตุด้วยตนเอง ให้รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ
2. สวมหน้ากาก N95 เป็นอย่างน้อยไว้ก่อน เพื่อป้องกันควันไฟ
3. อพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ไปยังที่ปลอดภัยในทิศเหนือลม
4. ติดตามสถานการณ์ข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด
5. ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด ใช้ผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามช่องว่าง
6. เฝ้าระวังแหล่งน้ำในชุมชน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารเคมี ไม่ควรตักน้ำในบริเวณดังกล่าวมาใช้
และสำหรับวิธีปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีถูกผิวหนัง ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุด เพื่อให้สารเคมีเจือจาง หากสารเคมีเข้าตา ให้ล้างตาโดยใช้น้ำสะอาดไหลผ่านตาประมาณ 15 นาที และหากสูดดมสารเคมีเข้าไป และมีอาการแสบคอ เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน ให้รีบย้ายไปยังที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลทันที