ค่ำคืน 10 พ.ค.เตรียมรับมือพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด

ค่ำคืน 10 พ.ค.เตรียมรับมือพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด

ตั้งแต่ค่ำคืนวันที่ 10 พ.ค.นี้ เวลา 4 ทุ่มโดยประมาณตามเวลาประเทศไทย มนุษย์กำลังเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กโลก ที่กระทบโลกรุนแรงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการติดตามพยากรณ์สภาพอวกาศ (space weather)

ในอดีตเกิดขึ้นใน พ.ศ 2402 หรือ ค.ศ. 1859  ประมาณ 165 ปีก่อน คือการเกิดปรากฏการณ์ Carrington event  ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 หรือ ค.ศ. 2003 หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Halloween solar storm  โดยในครั้งนั้นสร้างผลกระทบกับระบบไฟฟ้าของประเทศสวีเดน และสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าในแอฟริกาใต้ 

สำหรับครั้งนี้มาจากบริเวณที่มีการประทุ (AR 3664) ของดวงอาทิตย์  ซึ่งมีขนาดมหึมาเทียบเคียงกับ 2 ครั้งที่กล่าวมา (ตามภาพที่ 1)

ค่ำคืน 10 พ.ค.เตรียมรับมือพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด

ด้วยข้อมูลอัพเดทล่าสุดในปัจจุบัน การประทุที่รุนแรงได้ปล่อยการปลดปล่อยก้อนมวลขนาดใหญ่จากโคโรนาของดวงอาทิตย์ (corona mass ejection : CME) เป็นระยะกว่า 6-7 ระลอก ส่งผลให้เกิดลมสุริยะ (Solar wind) กระทบโลกอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 2 อ้างอิงจาก NOAA)

ข้อมูลล่าสุดที่มีการรายงานจาก NOAA ลมสุริยะที่มีความเร็วสูงสุดที่ 835 km/s มีค่าสนามแม่เหล็กสูงสุด (Bt) 74 nT  โดยมี Bz เท่ากับ -45 nT ซึ่งแสดงทิศทางมายังโลก 

ค่ำคืน 10 พ.ค.เตรียมรับมือพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ค่าสนามแม่เหล็กโลก โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (อังกฤษ: National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาและช่วงเย็นของวันนี้ (11 พฤษภาคม 2567)

ค่าพายุสนามแม่เหล็กโลกซึ่งบ่งบอกด้วยค่า Kp index ขึ้นสู่ระดับสูงสุด Kp index =  9 หรือ ระดับ G5 โดยมีความรุนแรงขั้นสูงสุดของพายุสนามแม่เหล็กโลก (Extreme level) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดในวงรอบสุริยะ (Solar cycle) ที่ 25 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567)

จากแบบจำลองของ NOAA บ่งชี้ว่าเรากำลังเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2567

สิทธิพร ขาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามค่าสนามแม่เหล็กโลกบริเวณพื้นที่ประเทศไทย พบว่าช่วงคืนที่ผ่านมา ตรวจวัดค่าสนามแม่เหล็กที่ local k index จากเซ็นเซอร์ที่ติดในประเทศไทย

ผลการวิเคราะห์ค่ารุนแรงพายสนามแม่เหล็กโลกของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ 7 หรือระดับ G3 ซึ่งบ่งชี้ว่า ค่าสนามแม่เหล็กบริเวณไทยอยู่ในระดับรุนแรง (Strong level)  ดังภาพที่ 3

ค่ำคืน 10 พ.ค.เตรียมรับมือพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด

ผลกระทบที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ

1. ประเทศที่อยู่ในเขตละติจูดที่สูง จะมีโอกาสได้รับชม “แสงเหนือ” หรือออโรร่าที่มีสีสันหลากหลายและพบได้เป็นบริเวณกว้างมากกว่าปกติ และ

2. ดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ดาวเทียมนำทางและดาวเทียมสื่อสารอาจจะมีการถูกรบกวนหรือใช้งานไม่ได้ชั่วคราว รวมไปถึงสัญญาณวิทยุช่วงความถี่สูงในเครือข่าย HF/VHF/UHF และ ระบบไฟฟ้า 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทาง GISTDA ได้ติดตามสภาพอวกาศ (space weather) ด้วยระบบการพยากรณ์สภาพอวกาศ (space weather forecast system : JASPER ) ซึ่ง GISTDA มีความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ 

สำหรับการติดตามเหตุการณ์ในครั้งนี้ เราใช้ข้อมูลที่ได้จากครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กโลก (magnetometer) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง GISTDA กับ National Institute Of Information And Communications Technology หรือ NICT จากประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยติดตั้งอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก เพื่อติดตามสภาพอวกาศที่จะกระทบกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทาง GISTDA และเครือข่าย จะติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังสภาพอวกาศที่จะกระทบประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและจะอัพเดทข้อมูลเป็นระยะๆ.