สทนช. กู้วิกฤติน้ำเค็มรุกคลองประเวศฯสำเร็จ แก้ไขปัญหาภายใน 1 เดือน
สทนช. ปิดหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ หลังประสบผลสำเร็จในการระดมสรรพกำลังบูรณาการร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงรุกตัวเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา จนสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ เผยสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้มากกว่า 10,000 ครัวเรือน
กรณีปัญหาน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงรุกตัวเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงรุกตัวเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ตั้งแต่เกิดในช่วงต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา
จนถึงปัจจุบันว่า หน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวฯ ใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาข ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สมุทรปราการ ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีค่าความเค็มอยู่ในช่วงควบคุมคือ ไม่เกิน 5 กรัมต่อลิตร และเริ่มทยอยเข้าสู่สภาวะปกติ
โดยพื้นที่ที่มีค่าความเค็มอยู่ในช่วง 0.10-1.00 กรัมต่อลิตร มีจำนวน 8 พื้นที่ เช่น คลองขวาง คลองเปรง คลองสำโรงหน้าอำเภอบางบ่อ คลองหลอดปลาดุก เป็นต้น และพื้นที่ที่มีค่าความเค็มอยู่ในช่วง 1.01-5.00 กรัมต่อลิตร จำนวน 21 พื้นที่ เช่น คลองบึงหนามแดงบางพระ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระยาสมุทร และบริเวณสี่แยกคลองพระองค์ตัดคลองประเวศฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ปริมาณออกซิเจนในน้ำเริ่มมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ การประมง และการเกษตร เกษตรกรสามารถนำน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูกพืชและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำได้ ชาวบ้านสามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดความเสียหายให้กับผู้ประสบภัยด้านคุณภาพน้ำได้มากกว่า 12,000 ครัวเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามปกติแล้ว จึงได้ยุติการทำงานของหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2567 เป็น ต้นไป สทนช.ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ เหตุการณ์น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงรุกตัวเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาดังกล่าวนั้น เกิดจากทำนบดินชั่วคราว โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบท่าถั่ว ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พังทลายเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 67 จนทำให้น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลทะลักเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ส่งผลให้ค่าความเค็มในคลองประเวศฯและคลองสาขาสูงที่ระดับ 6.7-25 กรัมต่อลิตร กระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งประชาชน เกษตรกรผู้ปลูกพืช เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำใน อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บ้านโพธิ์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ นำไปใช้สอย
สทนช.จึงได้ประกาศจัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ” ขึ้นมา ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและในพื้นที่เพื่อบูรณาการกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ โดยได้มีการประชุมวางแผนและติดตามการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สทนช.ได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมชลประทานและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเค็มออกจากพื้นที่ประสบภัยวันละ 56,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินที่พังทลายให้แล้วเสร็จ
จากนั้นได้แจกจ่ายน้ำจืดสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนรวมจำนวน 5 ล้านลิตร ในขณะเดียวกันกรมพัฒนา ที่ดิน ได้แจกสารบำบัดน้ำเน่าเสีย ที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์พด.6 ให้เกษตรกรรวม 2,200 ลิตร พร้อมทั้งได้ฉีดในพื้นที่คลองสาธารณะรวม 155,000 ลิตร สำนักงานประมงจังหวัด แจกจุลินทรีย์ ปม.1 และ ปม.2 เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในฟาร์มสัตว์น้ำให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ในส่วนของ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สมุทร ปราการเองก็ได้ร่วมแก้ไขสถานการณ์ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข่าวสารให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง และได้มีการบริหารจัดการน้ำข้ามลุ่มน้ำโดยการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่ลุ่มน้ำบางปะกง เพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มในพื้นที่จนสถานการณ์คลี่คลายลงได้
“ส่วนกรณีที่น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนลุ่มน้ำบางปะกงในพื้นที่ดังกล่าวอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับลุ่มน้ำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำท่าจีนจะมีการนำน้ำจากแม่น้ำแม่กลองและคลองดำเนินสะดวกมาเติมเพื่อรักษาค่าความเค็มที่ปากคลองจินดาให้เป็นไปตามเกณฑ์ ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะควบคุมค่าความเค็มโดยการผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมาเติมที่คลองพระยาบันลือเพื่อให้รักษาค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำดิบสำแลให้เป็นไปตามเกณฑ์ ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาด้านคุณภาพน้ำได้เป็นอย่างดี” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย