แนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีอนุญาโตตุลาการนอกศาล

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีอนุญาโตตุลาการนอกศาล

การอนุญาโตตุลาการ เป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงมอบให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท

กฎหมายไทยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับตุลาการ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการคือบทบัญญัติในหมวด 3 มาตรา 210 ถึงมาตรา 222 เรียกกันว่า “อนุญาโตตุลาการในศาล” โดยคู่ความอาจตกลงกันเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดตามที่บัญญัติในมาตรา 210 คือ

“มาตรา 210 บรรดาคดีทั้งปวงซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความจะตกลงกันเสนอข้อพิพาทอันเกี่ยวกับประเด็นทั้งปวงหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ให้อนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้ โดยยื่นคำขอร่วมกันกล่าวถึงข้อความแห่งข้อตกลงเช่นว่านั้นต่อศาล ถ้าศาลเห็นว่าข้อตกลงนั้นไม่ผิดกฎหมาย ให้ศาลอนุญาตตามคำขอนั้น"

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่คู่สัญญาทำความตกลงไว้ในสัญญาที่ทำธุรกรรมระหว่างกัน หรือทำสัญญาในภายหลังว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น คู่สัญญาตกลงให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เรียกกันว่า “อนุญาโตตุลาการนอกศาล” 

โดยที่คำชี้ขาดไม่มีสภาพบังคับโดยตัวเอง คู่พิพาทที่ประสงค์ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นทำในประเทศใด ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ฯ

การพิจารณาเพื่อทำคำสั่งบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของศาล เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ฯ โดยทั่วไปศาลจะมีคำสั่งบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดเป็นหลัก โดยศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธบังคับไม่รับบังคับตามคำชี้ขาด เมื่อผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า

มีกรณีตามที่กำหนดในมาตรา 43 (1) ถึง (6) หรือกรณีที่ปรากฏต่อศาลตามมาตรา 44 คือคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับได้โดยอนุญาโตตุลาการตามกฎหมาย หรือถ้าบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ที่ผ่านมา มีคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ คือ

กำหนดเวลาให้ร้องเพิกถอน ไม่ใช่อายุความ

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16037/2556

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2551 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องเพราะคำร้องบกพร่อง 

ผู้ร้องก็ชอบที่จะแก้ไขข้อบกพร่องและยื่นคำร้องเสียใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หรือหากผู้ร้องเห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 18 วรรคท้าย แต่เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการดังกล่าวมาจนล่วงเลยระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.ฯ มาตรา 40 วรรคสอง

พิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดไม่ได้

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9477/2558

แม้หนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีคำชี้ขาดนี้จะเป็นหนี้เงิน ซึ่งกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ผิดนัด แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ต้องเป็นไปตามข้อเรียกร้อง และคำขอที่ให้ชี้ขาดในเรื่องนั้นๆ

ซึ่งตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องมิได้มีคำขอดอกเบี้ยหลังวันชี้ขาดด้วย และอนุญาโตตุลาการก็ชี้ขาดดอกเบี้ยเฉพาะตามที่ขอ เมื่อผู้ร้องมาขอบังคับตามคำชี้ขาด ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดนั้นได้

ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมีคำขอดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันร้องขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จมาท้ายคำร้อง ก็เป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดที่กำหนดสถานะความรับผิดของผู้คัดค้านจากการผิดสัญญาซื้อขายไว้โดยเฉพาะแล้ว และตาม พ.ร.บ.ฯ นั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2559

การที่ผู้ร้องมีคำขอให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องเป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ เป็นการร้องขอที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ฯ มาตรา 41

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้

โต้แย้งการใช้ดุลยพินิจของอนุญาโตตุลาการไม่ได้

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2560 

 การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหลายที่อยู่ในสำนวน มิใช่พิจารณาจากพยานหลักฐานชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือสองชิ้นเท่านั้น คดีนี้ได้พิจารณาพยานหลักฐานของคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมชอบด้วยกฎหมาย

คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ว่า คำชี้ขาดขัดแย้งต่อพยานหลักฐานในสำนวน จึงเป็นการโต้แย้งดุลยพินิจการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ฯ ให้ผู้คัดค้านขอเพิกถอนหรือไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดได้

  ประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ได้เสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ฟ้องต่อศาลได้

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2560

อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนของสินค้าที่เสียหายให้แก่จำเลย ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องซากสินค้าที่เสียหายเพราะไม่มีข้อพิพาท คดีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิที่จะเสนอคดีนี้ต่อศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ส่งมอบซากสินค้าได้

แก้ไขคำชี้ขาดให้ถูกต้องได้

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6296/2562

ในชั้นทำคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ เห็นว่า ในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีการเรียกผู้คัดค้านทั้งสองสลับกัน จึงได้วินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขโดยเรียกผู้คัดค้านให้ตรงตามที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทและผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน

การแก้ไขและการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นไปตามประเด็นที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงไม่ต้องด้วยกรณีที่จะอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45