แกล้งบ้า กับคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว
ยุคปัจจุบันนั้น “สิทธิ” เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและทุกคนต่างตระหนักถึง ในฐานะตัวแทนของความเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้สัญญาประชาคม แต่ก็นำไปสู่ข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว โดยเฉพาะประเด็น "แกล้งบ้า" เพื่อหนีความผิด
แต่ด้วยคำนี้อีกเช่นกันที่กลับหันมาเสียดแทงความรู้สึกของสังคมในมวลรวมที่มีต่อ “ผู้กระทำความผิด” บางประเภทที่กฎหมายให้การคุ้มครองสิทธิในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างเต็มที่ด้วยเหตุที่บุคคลเหล่านั้นเป็น “ผู้ป่วยจิตเภท”
ประเด็นที่น่าสงสัย คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 เรื่อง
(1) พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
(2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(3) ประมวลกฎหมายอาญา
(4) พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
กำหนดความเข้าใจ ที่สอดคล้องกับบริบททางความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมของสังคมมากน้อยแค่ไหน และอะไรคือข้อบกพร่องของความบิดเบี้ยวข้างต้น
โดยทั่วไปสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะปรากฏชัดเจนอยู่ใน “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” กล่าวคือ บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีทางอาญาผ่านกระบวนการจำต้องมีองค์ประกอบในความรับผิดทางอาญาที่ครบถ้วนตามที่กฎมายได้บัญญัติไว้ อันคำนึงถึง “การกระทำทางอาญา” เป็นปฐม
สิ่งที่ตามมา คือ สังคมยุคปัจจุบันเข้าใจความหมายของถ้อยคำนี้ถ่องแท้แค่ไหน กล่าวโดยสรุป การกระทำทางอาญามิได้สนใจแค่การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย แต่สาระสำคัญอยู่ที่ “การเคลื่อนไหว หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้น ผ่านกระบวนการคิด ตกลงใจ และลงมือกระทำหรือไม่”
ดังนั้น การที่บุคคลหนึ่งนอนละเมอ หรือเป็นลมชักทำให้มือของตนในขณะนั้นไปทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือเด็กอายุสองขวบเล่นปืนพกของบิดาทำให้ปืนลั่นไปโดนผู้อื่น
เหล่านี้หาได้มีการกระทำทางอาญาที่ทำให้บุคคลหรือเด็กดังกล่าวจำต้องรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด เนื่องด้วยขาดการ คิด ตกลงใจ อันนำมาใช้ลงมือกระทำ เช่นนี้ ผลสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาย่อมไม่ต่างจาก “ผู้ป่วยจิตเภท” มีการกระทำความผิดแต่อย่างใด
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ เหตุใดสังคมจึงตั้งคำถามต่อการกระทำทางอาญาของผู้ป่วยจิตเภทว่า เป็นการ “แกล้งบ้า” เพื่อหนีความผิด หรือไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย
กรณีนี้ผู้เขียนขออธิบายแยกการกระทำที่เป็นข้อสงสัยข้างต้นออกเป็น 3 กรณี ดังนี้ 1. ป่วยจิตเภทก่อนมีการกระทำความผิด 2. ป่วยจิตเภทหลังกระทำความผิดและอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี 3. ป่วยจิตเภทในขณะที่ต้องรับโทษตามคำพิพากษา
1. ป่วยจิตเภทก่อนมีการกระทำความผิด :
มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่กำกับประเด็นนี้ กล่าวคือ ในกรณีฉุกเฉินได้รับแจ้งว่ามีบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีภาวะอันตรายหรือจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา หรือพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งมีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายใกล้จะถึง ให้
(1) พนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข
(2) พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ
(3) เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการโดยด่วน
ส่วนกรณีที่พบบุคคลที่มีอาการทางจิต แต่ยังไม่ได้กระทำความผิด เช่น มีอาการคุ้มคลั่ง แสดงอาการไม่พึงประสงค์ บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวส่งสถานพยาบาลได้ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตจริง คณะกรรมการสถานบำบัดสามารถออกคำสั่งให้บุคคลนั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้
เห็นได้ว่ากฎหมายในส่วนนี้ได้กำกับไปถึงความปลอดภัยของการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้ป่วยจิตเภท โดยคำนึงตั้งแต่ก่อนมีการกระทำความผิด อันเป็นการป้องกันการกระทำความผิดรูปแบบหนึ่ง แต่ข้อสังเกตแห่งประเด็นอยู่ที่ หากอาการบกพร่องดังกล่าวดำรงอยู่จนกระทั่งกระทำความผิด เช่นนี้ ผลจะเป็นเช่นไร
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 บัญญัติให้พิสูจน์ด้วยการสืบพยาน โดยอาศัยการวินิจฉัยจากแพทย์ที่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญว่า อาการบกพร่องทางจิตเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในขณะที่กระทำความผิดอัน จะเป็นไปตามความหมายของความมีจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
หากพิสูจน์ได้ว่าขณะกระทำความผิด ผู้กระทำไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือมีจิตบกพร่อง ผลคือ “ไม่ต้องรับโทษ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง
ในทางกลับกันหากพิสูจน์ได้ว่าขณะกระทำความผิด ผู้กระทำสามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองได้อยู่บ้าง เช่นนี้ผู้กระทำจำต้องรับการลงโทษแต่จะได้รับการพิตารณาลดโทษตามดุลพินิจของศาลดังที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสองกำหนดไว้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงแห่งคดีย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญ อันจะมีผลทางกฎหมายต่อผู้กระทำที่แตกต่างกัน
2. ป่วยจิตเภทหลังกระทำความผิดและอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี:
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 กับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 35 กำหนดให้จำต้องพักการสอบสวนหรือพักการพิจารณาคดีไว้ เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิในการต่อสู้คดีที่จะต้องให้ความเป็นธรรมต่อผู้เข้าสู่กระบวนการทุกฝ่าย
โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องด้วยความบกพร่องทางจิต ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การดำเนินคดีนั้นตกเป็นการดำเนินกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3. ป่วยจิตเภทในขณะที่ต้องรับโทษตามคำพิพากษา:
ในกรณีหากต้องจำคุก แต่พบว่าควรได้รับการรักษาในสถานพยาบาล ก็สามารถพักโทษจำคุกและขอออกมารักษาพยาบาลนอกเรือนจำก่อนได้ หากเป็นกรณีที่ ผู้ต้องขังมีโอกาสจะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นสามารถเข้ารับการตรวจเพื่อส่งไปบำบัดนอกเรือนจำได้ หากต้องโทษประหารชีวิต ก็ให้งดโทษไว้จนกว่าจะหายดีก่อนจึงดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
เห็นได้ว่าสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีมาตรการทางกฎหมายอยู่หลายประการ เพื่อควบคุมดูแลและให้การคุ้มครองผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติ แต่การคุ้มครองตามสิทธิดังกล่าวนั้นจำต้องอาศัยการพิจารณาถ้อยคำตามกฎหมายด้วยเจ้าพนักงานที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
การที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความรู้ความเข้าใจไม่ตรงกัน ย่อมก่อให้เกิดลบริบทที่ไร้มาตรฐานกลางในการกำหนดเกณฑ์วินิจฉัยเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต กลายเป็นช่องทางให้มีการถกเถียงถึงนิยามของคำว่า “ป่วยจิตเภท” และเป็นคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจบิดเบือนไปได้เพื่อคนบางกลุ่ม อันย้อนแย้งต่อวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็นตามหลักกฎหมาย.