ตอบข้อสงสัย ทำไม 'ลาบูบู้' ต้องมีเครื่องหมาย มอก.
สมอ. ชี้แจง ทำมไม "ลาบูบู้" ต้องเครื่องหมาย มอก. แนะประชาชนซื้อของเล่นได้มาตรฐานและปลอดภัย
วันนี้ (19 พ.ค. 67) นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้กำหนดให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสินค้าควบคุม โดยผู้ทำ ผู้นำเข้า จะต้องทำ/นำเข้า สินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น และจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงการจำหน่ายจะจำหน่ายได้เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันมีจำนวน 144 รายการ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและวัสดุก่อสร้าง ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร เมลามีน ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ และหมวกกันน็อก รวมทั้งของเล่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ สมอ. ควบคุมด้วย
ปัจจุบันของเล่นที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ สมอ. จึงต้องเข้มงวดในการตรวจควบคุมเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากผู้ใช้เป็นเด็ก อาจสัมผัสหรือนำเข้าปากได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความห่วงใยประชาชนในการเลือกซื้อของเล่นที่ได้มาตรฐาน หากไม่มีการควบคุมความปลอดภัย อาจทำให้เกิดอันตรายจากส่วนแหลมคม ชิ้นส่วนขนาดเล็ก โลหะหนัก และสารเคมีที่อยู่ในสีเคลือบได้ พ่อแม่จึงควรเลือกของเล่นที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของเด็ก
“ของเล่น” ตามกฎหมาย หมายถึง สินค้าที่ออกแบบและทำให้เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี เล่น เช่น ตุ๊กตา ลูกโป่ง ลูกบอล เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่ม “ของเล่น” เช่น พวงกุญแจ ของสะสมสำหรับผู้ใหญ่ ปืนบีบีกัน ปืนอัดลม ลูกดอก หนังสติ๊ก จักรยาน 2 ล้อที่มีอานนั่งสูงเกิน 435 มิลลิเมตร เป็นต้น
สำหรับตุ๊กตาทุกประเภทจัดอยู่ในข่ายของเล่นที่ สมอ. ควบคุมซึ่งต้องกำกับดูแลให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ใช่เฉพาะตุ๊กตา “ลาบูบู้” เท่านั้น ในกรณีของลาบูบู้หากมีวัตถุประสงค์ในการทำเพื่อเป็นของเล่นสำหรับเด็ก และผู้ใช้งานคือเด็ก สมอ. ถือว่าเป็นของเล่น ซึ่งผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หากมีวัตถุประสงค์ในการทำเพื่อเป็นอย่างอื่น เช่น พวงกุญแจ และผู้ใช้งานคือผู้ใหญ่ จะไม่อยู่ในข่ายของเล่นและไม่อยู่ในการควบคุมของ สมอ.
ทั้งนี้ ข้อกำหนดในมาตรฐานของเล่น มีข้อกำหนดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น การควบคุมปริมาณโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ที่อยู่ในส่วนประกอบของ ของเล่น ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและไม่เป็นอันตราย ไม่มีขอบคมหรือปลายแหลม ต้องมีฉลากหรือข้อความระบุช่วงอายุของเด็กที่ของเล่นหรือภาชนะบรรจุ ต้องมีคำเตือนหรือวิธีการเล่น เช่น “มีชิ้นส่วนขนาดเล็ก อาจทำให้ อุดตันทางเดินหายใจ” “ห้ามเล่นใกล้เปลวไฟ” “ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ” และ “ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่” เป็นต้น
บทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กรณีทำและนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ