ชลประทาน เดินหน้าจัดการน้ำฤดูฝน ควบคู่กับการเก็บกักน้ำไว้ใช้แล้งหน้า

ชลประทาน เดินหน้าจัดการน้ำฤดูฝน ควบคู่กับการเก็บกักน้ำไว้ใช้แล้งหน้า

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า

วันนี้ (20 พ.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์  สุตสุนทร  ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
 

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (20 พ.ค.67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 39,401 ล้าน ลบ.ม. (52% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,346 ล้าน ลบ.ม. (42%  ของความจุอ่างฯรวมกัน) ตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปี67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 2,678 ล้าน ลบ.ม. (18% ของแผน)  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 981 ล้าน ลบ.ม. (20% ของแผน) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ทั้งประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกแล้ว 1.25 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้วประมาณ 0.97 ล้านไร่  

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สนับสนุนน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาทั้ง 11 ทุ่ง (ทุ่งบางระระกำ และ 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง) ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย ปัจจุบันทุ่งบางระกำมีพื้นที่เพาะปลูกแล้วคิดเป็นร้อยละ 97 ของแผนฯ ในขณะที่ 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีพื้นที่เพาะปลูกแล้วประมาณร้อยละ 30 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่  บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอเป็นไปตามแผนที่วางไว้

สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มแม่น้ำสายหลัก ปัจจุบันอยู่ในภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 20-21 พ.ค. 67 นี้ อีกครั้ง โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขอความร่วมมือให้ผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ งดสูบน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในการควบคุมค่าความเค็มช่วงน้ำทะเลหนุนสูง พร้อมติดตามสถานการณ์และควบคุมความเค็มอย่างต่อเนื่องต่อไป 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนพฤษภาคมนี้ ในขณะที่หลายพื้นที่เริ่มมีปริมาณฝนตกบ้างแล้ว ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมนำสิถิติปริมาณฝนและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ที่ผ่านมา มาคาดการณ์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยงสามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที  ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์