กทม. ผนึกกำลัง ดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล

กทม. ผนึกกำลัง ดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล

กทม. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล

วันนี้ (21 พ.ค. 67) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมกรณีการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล ศึกษากรณีกลุ่มเปราะบางในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และผู้ป่วยติดเตียงในกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม 901 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง สิทธิ สวัสดิการ มาตรการต่าง ๆ และขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีเพื่อช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในการรักษาพยาบาล และการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่ยังตกหล่นจากการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

การบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปัญหาและอุปสรรค โดย นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุม หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และผู้เกี่ยวข้อง

กทม. ผนึกกำลัง ดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการในการดูแลและอำนวยความสะดวกต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วย สำนักอนามัย ดำเนินการโครงการ ได้แก่

1. โครงการ กรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ กองสร้างเสริมสุขภาพ โดยบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดบริการหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่เพื่อให้บริการเชิงรุก ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเดือนละ 2 ครั้ง ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดเวลาในการเดินทาง ลดความแออัดในสถานพยาบาล ยกระดับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลคุณภาพดีใกล้บ้านในระดับเส้นเลือดฝอย

2. โครงการที่เกี่ยวข้องในการดูแลกลุ่ม ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ กลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ได้แก่

  1. ศูนย์ส่งต่อเพื่อการพยาบาลต่อเนื่องที่บ้านกรุงเทพมหานคร (BMA Home Ward Referral Center)
  2. โครงการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  3. โครงการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

3. โครงการพัฒนาระบบบริการเพื่อการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสำหรับคนพิการ โดยปฏิบัติการเชิงรุกในการออกเอกสารรับรองความพิการ โดยมีการให้บริการในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของคนพิการ 4 ช่องทาง ได้แก่

  1. การลงพื้นที่ค้นหาคนพิการโดยทีมสหวิชาชีพ
  2. การเข้าถึงและค้นหา คนพิการเชิงรุก ร่วมกับการให้บริการสุขภาพเคลื่อนที่ของสำนักอนามัย
  3. การสำรวจและค้นหาคนพิการ โดยอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนและเครือข่าย
  4. การให้บริการผ่านช่องทาง Line Chat Bot (2A : Able to Access) การดำเนินงานออกเอกสารรับรองความพิการเชิงรุกทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย โดยทีมสหวิชาชีพของศูนย์บริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1,616 ราย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 321 ราย

กทม. ผนึกกำลัง ดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล

สำนักการแพทย์ มีการจัดทำโครงการในการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ดังนี้

1. โครงการตรวจสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัย 1 ล้านคน

2. รถรับส่งคนพิการและผู้สูงอายุ

3. โครงการ กทม. ใส่ใจ ผู้สูงวัยหัวใจแกร่ง เป็นโครงการพัฒนาระบบการให้บริการผู้สูงอายุที่มารับบริการในโรงพยาบาล ให้ได้รับการดูแลต่อเนื่องจนถึงบ้าน

4. โครงการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี (One Stop Crisis Center: OSCC) ดำเนินงานในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 8 แห่ง เพื่อให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ประสบปัญหาด้านความรุนแรงที่มารับบริการทางด้านการบำบัดรักษา การตรวจหลักฐานทางนิติเวช การฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ การให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงการดูแลทางด้านสังคมตลอด 24 ชั่วโมง

5. การจัดบริการอื่น ๆ สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น ช่องทางด่วน (Fast Track) จัดสถานที่เอื้อต่อคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น

กทม. ผนึกกำลัง ดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล

สำนักพัฒนาสังคม จัดบริการและอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ดังนี้

1. คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้แก่

  1. นำรถที่ได้รับบริจาคจากบริษัท กรุงเทพธนาคม (จำกัด) จำนวน 2 คัน ใช้บริการในบ้านผู้สูงอายุบางแค 2 เพื่อการรับส่งผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลและศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง ในการสำรวจ Universal Design ของคนพิการ
  2. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในการรักษาพยาบาล (ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ค่าพาหนะ ค่าอาหาร ระหว่างรักษาพยาบาลเท่าที่จำเป็น) ไม่เกินครั้งละ 5,000.- บาท/คน/ปี

2. คนไร้บ้าน ดำเนินการดังนี้

  1. จัดทำฐานข้อมูล เป็นการบูรณาการจัดเก็บข้อมูลแบบการติดตามการช่วยเหลือในรูปแบบ Google Forms เพื่อการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง
  2. การบริการสวัสดิการสังคมในจุด drop in โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และบริเวณตรอกสาเก

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางรวมถึงองค์กรเอกชนในการดูแลรักษาและเอื้ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประชากรกลุ่มเปราะบาง อาทิ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชนในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิส่งเสริมและสนับสนุนกิจการสำนักอนามัย มูลนิธิเขมไชย รสานนท์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย กรมกิจการเด็ก และเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก และสโมสรโรตารี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมสุขภาพจิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น

กทม. ผนึกกำลัง ดูแลสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล