พร้อมรับมือหน้าฝน! กทม.-กรมอุตุฯ อัปเกรดพยากรณ์อากาศ แม่นยำ รวดเร็ว

พร้อมรับมือหน้าฝน! กทม.-กรมอุตุฯ อัปเกรดพยากรณ์อากาศ แม่นยำ รวดเร็ว

พร้อมรับมือหน้าฝน ! กทม. แท็กทีม กรมอุตุฯ อัปเกรดพยากรณ์อากาศ แม่นยำ รวดเร็ว เตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วม

วันนี้ (29 พ.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมอุตุนิยมวิทยา หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลการคาดการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมชีนิมิต สำนักการระบายน้ำ เขตดินแดง

พร้อมรับมือหน้าฝน! กทม.-กรมอุตุฯ อัปเกรดพยากรณ์อากาศ แม่นยำ รวดเร็ว

ผู้ว่าฯชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การพยากรณ์อากาศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปริมาณฝนมีมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา หากเราสามารถรู้ล่วงหน้าได้แม่นยำจะทำให้เราจัดสรรทรัพยากรได้เหมาะสม โดยการประชุมในวันนี้ มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อร่วมมือกันในประเด็นหลัก 3 เรื่อง คือ
 

  • เรื่องที่ 1 การแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้กรมอุตุฯ สามารถพัฒนาแบบจําลองที่พยากรณ์ได้ละเอียดขึ้น กำหนดจุดได้แม่นยำขึ้น ทำให้ต่อไปอาจไม่ใช่แค่ทํานายว่ากรุงเทพฯ มีฝนตกกี่เปอร์เซ็นต์ แต่จะระบุโซนหรือพื้นที่ได้แคบลง อาจจำกัดวงลงได้ถึงระดับเขต
  • เรื่องที่ 2 การสื่อสาร ต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย โดยปรับวิธีการสื่อสารทั้งสองฝั่งเพื่อให้สื่อความหมายถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง เช่น หลีกเลี่ยงศัพท์เทคนิคที่เข้าใจยาก
  • เรื่องที่ 3 ความร่วมมือในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องความร้อนของเมือง เพราะในอนาคตความร้อนของเมืองจะสูงมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการเกิด PM2.5 ด้วย เพราะว่าผลกระทบจากความร้อนของเมืองทำให้แก๊สเปลี่ยนเป็นฝุ่นได้

ด้าน นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยาวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาต้องการพัฒนาการพยากรณ์ให้มีความแม่นยํามากขึ้นกว่าที่ผ่านมา จะทำได้ต้องมีข้อมูลมาเสริม ซึ่งเราให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นําร่อง นอกเหนือจากที่พยากรณ์ภาพรวมทั้งประเทศ เพราะ กทม. มีเรดาร์ มีข้อมูลตรวจวัดที่ละเอียดในพื้นที่ หากนำข้อมูลประมวลผลร่วมกันจะทำให้พยากรณ์ได้ละเอียดถูกต้องมากยิ่งขึ้น
 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่สำคัญคือเรื่องอุปกรณ์ เพราะกรมอุตุฯ มีเครื่องมือที่มีราคาและคุณภาพสูง ทั้งสองหน่วยงานไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ซ้ำซ้อนกัน เช่น กทม.มีเรดาร์ดูกลุ่มฝน ส่วนกรมอุตุฯ มีพยากรณ์ผ่านดาวเทียม เราสามารถเอาสิ่งที่มีมาเสริมกันได้ จะทำให้การใช้งบประมาณภาษีของประชาชนมีประสิทธิภาพ และได้ผลที่บูรณาการมากขึ้น