สปสช. ลุย ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 'ผู้ต้องขัง' 2.7 แสนโดส ครอบคลุมทุกคนทุกสิทธิ
สปสช. เดินหน้า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 'ผู้ต้องขัง' ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ 2.7 แสนโดส ครอบคลุม 100% ทุกคนทุกสิทธิรักษาพยาบาล ลดการแพร่ระบาด-เจ็บป่วยรุนแรง-ภาวะแทรกซ้อน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การคุ้มครองสิทธิเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาต่อการเข้าถึงบริการ ในที่นี้รวมถึงกลุ่ม 'ผู้ต้องขัง' ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ด้วยแต่ละแห่งมีผู้ต้องขังจำนวนมาก ด้วยพื้นที่จำกัดอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอย่าง 'โรคไข้หวัดใหญ่' ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
ซึ่งในปีนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยบริการ โรงพยาบาลในพื้นที่ ให้บริการ 'ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่' กับผู้ต้องขังทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ครอบคลุมผู้ต้องขัง 100% ที่อยู่ระหว่างต้องโทษ เป็นจำนวน 270,000 โดส โดยปี 2567 นี้ ซึ่งเป็นปีแรกที่ดำเนินการ และได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่นำมาฉีดให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน เป็นวัคซีนชนิดเดียวกันกับที่ สปสช. ได้ดำเนินการจัดสรรเพื่อให้บริการกับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเดิม โดยเป็นวัคซีนสายพันธุ์ซีกโลกใต้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/4897/2022 (H1N1)pdm09-like virus; an A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus; and a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) มีประสิทธิผลในการป้องกันอย่างครอบคลุมสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อลดอาการความรุนแรงอาการ ภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้
'การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้ต้องขัง เป็นการพัฒนาบริการสุขภาพให้กับผู้ต้องขังภายใต้สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็น 1 ใน 10 รายการที่เพิ่มเติม ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ตามข้อเสนอของกรมราชทัณฑ์ที่ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองเศรษฐกิจและประกันสุขภาพ กองบริหารการสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.'
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.