ปภ. เตือน 23 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 4 – 11 มิ.ย. 67
ปภ.แจ้ง 23 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 4 – 11 มิ.ย. 67
วันนี้ (3 มิ.ย. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 23 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 4 – 11 มิ.ย. 67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 6/2567 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2567 แจ้งว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ทำให้มีฝนตกหนักและฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 11 มิถุนายน 2567 แยกเป็น
ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย)
- เชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย อำภเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอแม่วาง)
- เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงป่าเป้า)
- ลำปาง (อำเภอเกาะคา อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภอวังเหนือ อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว)
- พะเยา (อำเภอเมืองพะเยา อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงคำ)
- น่าน (อำเภอเมืองน่าน อำเภอทุ่งช้าง อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสา)
- ตาก (อำเภอเมืองตาก อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง)
- พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง)
- เพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มเก่า อำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่
- เลย (อำเภอนาแห้ว อำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอปากชม)
- หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอโพนพิสัย)
- บึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง)
- อุดรธานี (อำเภอนายูง อำเภอน้ำโสม)
- ชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอคอนสาร อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเทพสถิต)
- ขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น)
ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่
- กาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค อำเภอด่านมะขามเตี้ย)
- ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา)
- เพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ)
- ปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอนาดี)
- ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา)
- ระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอปลวกแดง อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอแกลง)
- จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์)
- ตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ อำเภอเกาะช้าง)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 23 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกหนักมากที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป