'ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย' ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้
วศ.อว. เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI) ยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามมาตรฐานสากล เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้
เมื่อเร็วๆ นี้ "นิสากร จึงเจริญธรรม" ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) และการยกระดับมาตรฐานอาชีพ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จังหวัดสงขลา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ยูรวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้การต้อนรับ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมบรรยาย เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อน NQI กับการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ภาคใต้” โดย นิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
และการเสวนา เรื่อง “การยกระดับมาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบ” ซึ่งได้รับเกียรติจากนายเสกสรรค์ เลิศรัตนาพร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสงขลา ผศ.ดร. วิรัช ทวีปรีดา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.ภูวดี ตู้จินดา ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาห้องปฏิบัติการ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้
พัฒนาเชิงพื้นที่ ยกระดับมาตรฐานอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม
ดร.ภูวดี ตู้จินดา ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เผยว่า การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ การพัฒนาหน่วยทดสอบในประเทศให้มีมาตรฐานเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อยกระดับและพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
รวมถึงการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์และเป็นอัตลักษณ์ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือภายใต้เครือข่ายองค์ความรู้และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะของบุคลากรอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมตามความต้องการของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและการบริการทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพิ่มความมั่นใจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพื่อรองรับการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกอย่างยั่งยืน
ขับเคลื่อนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายภาคใต้
นอกจากการบรรยายและการเสวนาฯ ภายในงานยังจัดกิจกรรม Workshop เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อน NQI กับการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ภาคใต้ เพื่อพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรอง ให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารทะเลแปรรูป สมุนไพร ยางพารา น้ำมันปาล์ม เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมระดมความคิดเห็น ในการรับรองความสามารถบุคลากรตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 เพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
นำทีมโดยนักวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในการรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งมีผู้แทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาร่วมให้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ พร้อมยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่ต่อไป
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการการพัฒนาหน่วยทดสอบในประเทศให้มีมาตรฐาน เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการรับรองความสามารถบุคลากรมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 ติดต่อสอบถามได้ที่ www.dss.go.th, https://pcst.dss.go.th