เช็กด่วน! คุณสมบัติผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2567

ประกาศคุรุสภา คุณสมบัติผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 2567

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา คุณสมบัติของผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2567

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง คุณสมบัติของผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2567

 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ประกอบกับข้อ 18 ของข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565 และมติคณะกรรมการคุรุสภา ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง คุณสมบัติของผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2552

ข้อ 3 ในประกาศนี้

"ใบอนุญาต" หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งคุรุสภาออกให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้มีความประสงค์จะปฏิบัติงานในตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามที่กำหนดในกฎระทรวงว่าด้วยการประกอบวิชาชีพควบคุม

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ

 

 

ข้อ 4 การต่ออายุใบอนุญาตทุกประเภท ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ขอต่ออายุต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(ก) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546

(ข) ประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ตามที่กำหนดในข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ

(ค) มีผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยต้องเข้าร่วมหรือมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาตามที่กำหนดในข้อ 5 เพื่อสะสมกิจกรรม ดังนี้

(1) กรณีขอต่ออายุใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู ต้องผ่านการพัฒนาไม่น้อยกว่า 2 กิจกรรม ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าร่วมหรือมีกิจกรรม จนถึงวันที่ยื่นคำขอ โดยเป็นกิจกรรมตามข้อ 5 (ก) ไม่น้อยกว่า 1 กิจกรรม และข้อ 5 (ข) ไม่น้อยกว่า 1 กิจกรรม
(2) กรณีขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ต้องผ่านการพัฒนาไม่น้อยกว่า 5 กิจกรรม ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันเข้าร่วมหรือมีกิจกรรม จนถึงวันที่ยื่นคำขอ โดยเป็นกิจกรรมตามข้อ 5 (ก) ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม และข้อ 5 (ข) ไม่น้อยกว่า 2 กิจกรรม
(3) กรณีขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ต้องผ่านการพัฒนาไม่น้อยกว่า 7 กิจกรรม ภายใน 7 ปี นับตั้งแต่วันเข้าร่วมหรือมีกิจกรรม จนถึงวันที่ยื่นคำขอโดยเป็นกิจกรรมตามข้อ 5 (ก) ไม่น้อยกว่า 4 กิจกรรม และข้อ 5 (ข) ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
(4) กรณีขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ต้องผ่านการพัฒนาไม่น้อยกว่า 5 กิจกรรม ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันเข้าร่วมหรือมีกิจกรรม จนถึงวันที่ยื่นคำขอ โดยเป็นกิจกรรมตามข้อ 5 (ก) ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม และข้อ 5 (ข) ไม่น้อยกว่า 2 กิจกรรม

ทั้งนี้ ในแต่ละกิจกรรมสามารถเข้าร่วมหรือมีกิจกรรมได้มากกว่าหนึ่งครั้ง โดยการเข้าร่วมหรือมีกิจกรรมแต่ละครั้งนับเป็นหนึ่งกิจกรรม และกิจกรรมตามข้อ (ค) (3) สามารถนำไปใช้ในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูงได้

(ง) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง แล้วแต่กรณีที่ยังไม่หมดอายุ สำหรับกรณีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์

ข้อ 5 การปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตตามข้อ 4 (ค) พิจารณาจากกิจกรรมการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพ หรือวิชาการเฉพาะด้านและการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้

(ก) การเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพ หรือวิชาการเฉพาะด้าน โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

(1) การศึกษาให้มีวุฒิเพิ่มขึ้นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั้งในระดับปริญญา และระดับบัณฑิตศึกษา
(2) การเข้าฟังการบรรยาย การอภิปราย การประชุมวิชาการ การประชุมปฏิบัติการการประชุมสัมมนา หรือการประชุมในรูปแบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ หรือวิชาการเฉพาะด้าน
(3) การฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ หรือวิชาการเฉพาะด้าน
(4) การเรียนรู้ด้วยตนเองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ หรือวิชาการเฉพาะด้าน จากบทความทางวิชาชีพ หรือวิชาการเฉพาะด้าน หรือการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น บทความวิชาการออนไลน์ กรเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
(5) การศึกษาดูงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางการศึกษาทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ
(6) การเพิ่มพูนสมรรถนะทางวิชาชีพ หรือสมรรถนะอาชีพเฉพาะด้านด้วยการเข้ารับการพัฒนาประสบการณ์วิชาชีพ ในสถานประกอบการ องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ
(7) กิจกรรมอื่นๆ ที่คณะกรรมการรับรอง

(ข) การพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

(1) การทำวิจัยในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้และการจัดการศึกษา และไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
(2) การสร้างสื่อการศึกษา พร้อมแบบทดสอบ เพื่อการศึกษาหรือเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาหรือผู้เรียน ทั้งในรูปแบบเอกสาร หรือชิ้นงาน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น สื่อ หรือชิ้นงานพร้อมแบบทดสอบ ชุดการเรียนรู้ ชุดการนิเทศ บทเรียนสำเร็จรูป เป็นต้น
(3) การเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้
(4) การเขียนบทความทางวิชาชีพ และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะ
(5) การจัดทำเอกสารประกอบการสอน แต่งตำรา หรือหนังสือ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ หรือวิชาชีพ
(6) การสร้างนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ หรือที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
(7) การเป็นวิทยากร ผู้บรรยาย ผู้อภิปราย หรือผู้อภิปรายร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ หรือวิชาการเฉพาะด้าน
(8) การเป็นครูพี่เลี้ยง ผู้บริหารพี่เลี้ยง หรือผู้ควบคุมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือปริญญาทางการศึกษา
(9) การผ่านการประเมิน เพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้น
(10) การปฏิบัติงานดีเด่นจนได้รับรางวัล การได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลของคุรุสภาหรือรางวัลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา
(11) การนิทศคุณภาพการฝึกอาชีพของการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และการฝึกงานในสถานประกอบการ
(12) การทดสอบวัดระดับการพัฒนาตามสมรรถนะ
(13) การเป็นผู้นำกิจกรรมหรือการเป็นต้นแบบของกิจกรรม
(14) การเป็นผู้ให้คำแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือ แก้ปัญหา
(15) การเป็นกรรมการตัดสินผลงานทางด้านวิชาการ
(16) การเป็นผู้ฝึกสอนหรือผู้ควบคุมนัเรียนเข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการ หรือแข่งขันทักษะหรือความสามารถด้านอื่นๆ
(17) การจัดทำโครงการภายในสถานศึกษา
(18) การเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมหรือพัฒนาที่ส่งเสริมระเบียบวินัยและจริยธรรมตามจรรยาบรรณวิชาชีพ
(19) การเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา
(20) การผ่านการประเมินข้อตกลงในการพัฒนางาน
(21) กิจกรรมอื่นๆ ที่คณะกรรมการรับรอง

ข้อ 6 ผู้ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 84 มาตรา 85 และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่ขอต่ออายุใบอนุญาต ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 4 โดยให้คุณวุฒิที่มีอยู่เดิมเป็นคุณวุฒิที่คุรุสภารับรอง ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546

ข้อ 7 ผู้ได้รับใบอนุญาต แต่มิได้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ประสงค์ขอต่ออายุใบอนุญาตต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 4

ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพครูชาวต่างประเทศ ประสงค์ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 4

ข้อ 9 สำหรับใบอนุญาตที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง คุณสมบัติของผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2552

ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานกรรมการคุรุสภา