พร้อมรับสถานการณ์น้ำ ย้ำน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ

สทนช. พร้อมรับสถานการณ์น้ำ ย้ำน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ

สทนช. รายงานความพร้อม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี67 ต่อนายกรัฐมนตรี ด้านนายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ย้ำน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีการวางแผนระยะสั้น ระยะยาว บูรณาการทำงานอย่างมีเอกภาพ

วันนี้ (20 มิ.ย. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรุงเทพมหานคร โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ในการนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมประชุมและรายงานภาพรวมสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้า 10 มาตราการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ด้วย

พร้อมรับสถานการณ์น้ำ ย้ำน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่นายกฯ ได้เคยเชิญประชุมการบริหารจัดการน้ำเมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการดำเนินการได้รับผลอย่างดี โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่เชิญทุกคนมาประชุมหารือ เพื่อประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกร่วมกัน เพื่อจะได้บรรเทาผลกระทบให้น้อยที่สุดและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตามปัญหาบางอย่างอาจจะแก้ไขยากหากดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว แต่หากประสานงานกันให้ดีและบูรณาการทำงานร่วมกันก็จะทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการและกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล ที่ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นั้น หลายๆ โครงการมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เช่น โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โครงการพัฒนา 72 สายน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี ดังนั้น วันนี้จึงขอติดตามและรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการแก้ไขเตรียมความพร้อม และแนวทางช่วยเหลือประชาชนในการรับมือกับปัญหาน้ำ โดยอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผน มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และตัวชี้วัดที่มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่

พร้อมรับสถานการณ์น้ำ ย้ำน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบและติดตามสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และแนวโน้มสถานการณ์น้ำจาก สนทช. และรับฟังการเตรียมการในด้านต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรุงเทพมหานคร เช่น การเตรียมความพร้อมรับมือช่วยเหลือประชาชนตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 (ในช่วงสิงหาคม - ตุลาคม) การบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา การบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำชี-มูล โดยเฉพาะการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้มีสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำปัจจุบันที่เกิดขึ้น การบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤต (3 ระดับ) โดยการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ มีกลไกการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำเพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ภาคใต้ จ.ยะลา ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี) การสำรวจความพร้อมระบบระบายน้ำบึงหนองบอน กรุงเทพฯ ซึ่ง สทนช. ร่วมกับกรมชลประทานและกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยสำรวจความพร้อมระบบชลประทานและอุโมงค์ระบายน้ำ ณ ศูนย์การเรียนรู้การจัดการบึงหนองบอน พร้อมติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลอง 4 การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจสำคัญอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้สำรวจและเตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้จริง การสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก การจัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ รวมทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที อีกทั้งยังรับทราบรายงานเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศและสถานการณ์ฝนเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงการที่ต้องติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงระยะใกล้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบในการเตรียมความพร้อมรับมือและปรับแผนปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยทุกหน่วยงานต้องมีการวางแผนกันให้รอบคอบ โดยเฉพาะในช่วงระยะสั้น 3 เดือน ทั้งนี้ ได้เน้นถึงการทำงานของทุกหน่วยงานให้มีการประสานงานกันในการทำงานให้ดีขึ้นและมีความเป็นเอกภาพ มีการมองปัญหาเพื่อวางแผนการทำงานไปถึงอนาคตให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย ซึ่งแม้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะยังมีอยู่ แต่ขอให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ รวมไปถึงเรื่องของการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาก็มีส่วนสำคัญ ดังนั้นการประสานงานร่วมกันของทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด จึงถือเป็นเรื่องหลักและสำคัญ ซึ่งการที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาหารือร่วมกันในวันนี้ก็จะทำให้ได้หลักการทำงานและแนวทางที่จะดำเนินการร่วมกันต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รองรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้

1) การเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์น้ำ ประกอบด้วย

  1. เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำ และพื้นที่ทุ่งนาน้ำ
  2. พื้นที่ลุ่มต่ำ จุดเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ต้องระบายให้รวดเร็ว เพราะจะเกิดน้ำเน่าในพื้นที่ท่วมขัง
  3. พื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชนเมือง ต้องป้องกันน้ำเข้า หากเกิดน้ำไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน
  4. ต้องมีแผนเร่งระบายน้ำ  หน่วยงานต้องมาร่วมกันดูแลอย่างเป็นเอกภาพ วางแผนและดำเนินการที่ดี
  5. สิ่งกีดขวางทางน้ำ ต้องเร่งเคลียร์ทางน้ำก่อนที่น้ำจะมา เช่น ผักตบชวา วัชพืช ความตื้นเขิน ซึ่งตรงนี้ทางกองทัพมีศักยภาพสูงที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว
  6. ตรวจเช็คความแข็งแรงของอาคารชลประทาน คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ 

2) การเตือนภัย กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งพยากรณ์อากาศ และการเตือนภัย ต้องชัดเจน แม่นยำ

3) ประมาณการพื้นที่เกษตรกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน เพราะส่งผลกระทบมากต่อผลผลิต ราคา และความเดือดร้อนของเกษตรกร

4) แผนการดูแลและช่วยเหลือประชาชนหากมีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น เช่น การอพยพ พื้นที่พักอาศัยชั่วคราว เวชภัณฑ์ เรือ เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานรวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย โดยขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยด้านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด