ดัน 9 แผนงาน มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ดัน 9 แผนงาน มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

กรมชลประทาน จับมือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขับเคลื่อน 9 แผนงาน มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทั้งระบบ

วันนี้ (27 มิ.ย. 67) ที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสํานักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร ผู้อํานวยการสํานักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ Mr. Scott Morris รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากธนาคารพัฒนาเอเชีย ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร ตามลำดับ  

ดัน 9 แผนงาน มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
 

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน เพื่อบรรเทาปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย 

1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 

2.โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย  

3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 

4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 

5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา     

6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 

7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 

8. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน 

9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง 

ดัน 9 แผนงาน มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

โดยในส่วนของโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง กรมชลประทานมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิมจำนวน 22 คลอง ความยาวรวม 462.80 กิโลเมตร ตลอดจนการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารชลประทานรวม 26 อาคาร หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 17 ล้าน ลบ.ม./ปี อีกทั้งยังสามารถป้องกันและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 298,250 ไร่ 

สำหรับการร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ แสดงถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างชลประทานเพื่อบรรเทาอุทกภัยที่มีต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจของประเทศ และความร่วมมือกันระหว่างกรมชลประทานและธนาคารพัฒนาเอเชียในการบรรลุภารกิจดังกล่าว ทั้งนี้ หากแผนงานโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงด้านน้ำ รักษาระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดไป

ดัน 9 แผนงาน มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง