หนังสือปฏิรูปเศรษฐกิจไทย จาก "วิทยากร เชียงกูล"
ขอแนะนำหนังสือแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจไทยที่ผมเขียน/แปลเรียบเรียง ดังนี้ 1. มุมมองใหม่ วิกฤตเศรษฐกิจโลก บ้านพระอาทิตย์ 2552
บทวิเคราะห์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของตัวระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ผูกขาดเอง วิธีแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคด้วยการอัดฉีดเงินภาครัฐไปช่วยภาคธุรกิจเอกชน เป็นเพียงการพยุงและยืดเวลาให้ระบบทุนนิยมได้มีเวลาปรับตัวไปได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง ไม่สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้อย่างยั่งยืน
ต้องปฏิรูปแบบเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจทั้งระบบให้เป็นเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นรูปธรรม และระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการเพื่อกระจายการพัฒนาอย่างสมดุล เป็นธรรม มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม ให้ระบบนิเวศอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงจะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้อย่างแท้จริง
2. เศรษฐกิจระบบนิเวศ เพื่อโลกที่เป็นธรรมและยั่งยืน บ้านพระอาทิตย์ 2554
บทความวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมว่ามีข้อด้อยและสร้างปัญหาการกดขี่ความเหลื่อมล้ำการทำลายระบบนิเวศอย่างไร เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ ที่สามารถสร้างความเป็นธรรมและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนกว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทุนนิยม
3. เศรษฐศาสตร์แนวใหม่-เพื่อชีวิตและระบบนิเวศที่สันติสุข กรุงเทพธุรกิจ 2556
เสนอแนวทาง หลักการ และคำอธิบายเศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ (Ecological Economics) ที่ผนวกแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง และระบบนิเวศวิทยาสังคมเข้าด้วยกัน เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าและครอบคลุมทั้งระบบกว่า เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Economics)
ซึ่งยังเชื่อในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม เพียงแต่ให้คิดต้นทุน และผลตอบแทนของการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อที่นายทุนนักธุรกิจผู้บริโภคจะได้ลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมลงมาบ้าง
เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศมองว่า เศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนย่อยของระบบนิเวศ ดังนั้น จึงต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ควรจำกัดขนาดความเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการลดการผลิตการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นลงมา ปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองให้ทรัพยากรธรรมชาติ
ที่สำคัญเป็นของส่วนรวมที่จะต้องมีการวางแผนการใช้อย่างระมัดระวัง และแบ่งปันกันตามความจำเป็นและเป็นธรรม พัฒนาเรื่องพลังงานทางเลือก เทคโนโลยี การผลิต การขนส่ง การบริโภค ฯลฯ ทางเลือกที่จะลดการทำลายสิ่งแวดล้อมลงอย่างจริงจัง
4. สร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ยุควิกฤตโควิด-19 มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม 2564
รวมบทความสั้นคัดสรร วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางปฏิรูปประเทศไทยในยุควิกฤตโควิด-19 แบ่ง 4 ด้านใหญ่ๆ คือ 1. ปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบนิเวศ 2. ปฏิรูปการเมืองและการบริหารจัดการสังคม 3. ปฏิรูปการศึกษาและสังคมด้านต่างๆ 4. ปฏิรูปวิธีคิด ทัศนคติ อุปนิสัยของพลเมือง
วิเคราะห์ปัญหารากเหง้าของระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมของไทย แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง และสังคมศาสตร์แบบพหุวิทยาการ เสนอทางเลือกใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าจากกรอบคิดเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและการเมืองประชาธิปไตยผ่านตัวแทน
แนวทางสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่คือ เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ สังคมนิยมประชาธิปไตย ชุมชนนิยม ประชาธิปไตยทางตรง การกระจายอำนาจ ทรัพยากร และประชาธิปไตยที่ประชาชน ชุมชนมีส่วนกำหนดมากขึ้น
การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นความสมดุล ความเป็นธรรม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ความเจริญงอกงามทางศิลปวัฒนธรรมและจิตใจ มากกว่าการเติบโตทางวัตถุที่ชอบวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)
แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในแนวสายกลางที่มีลักษณะปฏิรูป ไม่สุดโต่งไปทางขั้วใดขั้วหนึ่ง คือไม่ใช่ขั้วจารีตนิยม อำนาจนิยม กษัตริย์นิยม หรือขั้วเสรีนิยมหัวรุนแรง
ทางเลือกใหม่ คือทางเลือกสายกลางแนวปฏิรูป ที่พยายามวิเคราะห์เศรษฐกิจตามที่เป็นอยู่จริงอย่างให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเพื่อคนส่วนใหญ่มากกว่าตามความเชื่อ อุดมการณ์
วิธีการคิดวิเคราะห์ใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์การเมือง (และสังคมวิทยา) เชิงวิพากษ์ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมไทย (รวมทั้งเศรษฐกิจและการเมือง) ให้เป็นสังคมที่พึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น เป็นธรรม อนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และให้คุณค่าต่อความเจริญงอกงามทางจิตใจและความสุข ความพอใจ สำหรับคนส่วนใหญ่
5. 50 ปี 14 ตุลา 16 และอนาคตประเทศไทย สถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม 2566
สรุปบทเรียน 50 ปี เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 วิเคราะห์ปัญหาสภาพ สาเหตุปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมในยุคปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นระบบทุนนิยมกึ่งผูกขาดโดยกลุ่มน้อย ที่สร้างระบบกดขี่ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ขาดแคลน และการทำลายทรัพยากรระบบนิเวศมาก
ขณะที่ประชาชนนอกจากจะยากจนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังยากจนความรู้ ถูกครอบงำให้หวังพึ่งนักการเมืองโดยไม่คิดจัดตั้งกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองด้วยตนเอง ทางออกคือการปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองในแนวระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมแข่งขันเป็นธรรมและสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ
การจะก้าวไปสู่จุดนั้นจะต้องปฏิรูป เผยแพร่ความคิด ความรู้ ความเข้าใจ และการจัดตั้งองค์กรในหมู่ประชาชน เพื่อเป็นแรงผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองแบบจากล่างขึ้นบน จึงจะมีทางปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองของทั้งประเทศได้อย่างได้ผลจริง