ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ "ภาษีสัตว์เลี้ยง"

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ "ภาษีสัตว์เลี้ยง"

ปัจจุบันสัตว์เลี้ยงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์มากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต ดังจะเห็นได้จากการที่บุคคลโดยทั่วไปมีการเลี้ยงดูสุนัข แมวหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ไว้ในบ้านเรือนของตนเอง

ซึ่งแต่ละบ้านเรือนอาจจะมีการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเพียง 1 ตัวหรืออาจมากกว่า 1 ตัว และสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เช่น ม้า วัว หรือควาย เป็นต้น

การเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงดังกล่าวข้างต้นของบุคคลใดๆ อาจมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน เช่น การเลี้ยงดูเพราะความรักความเอ็นดู การเลี้ยงดูเพื่อการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

การเลี้ยงดูเพื่อช่วยบำบัดหรือบรรเทาความเจ็บป่วยให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครอง การเลี้ยงดูเพื่อการจำหน่ายในทางธุรกิจ การเลี้ยงดูเพื่อการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่เป็นผู้พิการ เป็นต้น

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ \"ภาษีสัตว์เลี้ยง\"

ใน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ได้ให้นิยามของสัตว์ว่าหมายความถึง สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร

สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดงหรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด

กฎหมายฉบับข้างต้นบังคับใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อการคุ้มครองมิให้สัตว์ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนําสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนําสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง

เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม และผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจะได้รับโทษทางอาญา

นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ยังมีการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น เทศบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

ที่มีเป้าหมายเพื่อการรักษาสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนในท้องถิ่น และการป้องกันเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ โดยผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจะได้รับโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน

ในบางประเทศ เช่น มลรัฐโคโลราโด สหรัฐ บังคับใช้กฎหมายการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงและการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงจากเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง โดยมีการกำหนดความหมายของสัตว์เลี้ยงให้มีความหมายอย่างกว้าง

ซึ่งนอกจากจะหมายถึงสุนัข แมว กระต่ายหรือสัตว์เลี้ยงที่บุคคลมีความคุ้นเคยหรือรู้จักแล้ว ยังหมายรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่บุคคลทั่วไปยังไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จักอีกด้วย เช่น สัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นต้น

กฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เพื่อจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ และเพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม

ซึ่งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยนำมาปรับใช้ โดยมีสาระสำคัญคือการมีระบบการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและตรวจสอบ และการมีระบบการเสียภาษีสัตว์เลี้ยง

สำหรับการมีระบบการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและตรวจสอบนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากเทศบัญญัติจำนวนหลายฉบับในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย ก็มีระบบการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน

แต่การมีระบบการเสียภาษีสัตว์เลี้ยงนั้น ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์การจัดเก็บภาษีอย่างชัดเจน และรายได้จากการจัดเก็บภาษีจะถือเป็นรายได้ของประเทศ

ในอดีตการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงในประเทศอังกฤษ เช่น สุนัข เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดจำนวนสุนัขในประเทศ เนื่องจากเมื่อมีการจัดเก็บภาษีสุนัขแล้ว ประชาชนจะไม่ต้องการเสียภาษีสุนัขด้วยการไม่เลี้ยงสุนัขอีกต่อไป

และในขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีสุนัขยังสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากการถูกสุนัขกัดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงระบบการจัดเก็บภาษีอากรแล้ว การจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงจะต้องมีการกำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี อัตราภาษีและจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ \"ภาษีสัตว์เลี้ยง\"

กล่าวคือ ผู้ตรากฎหมายจะต้องตัดสินใจว่า บุคคลใดจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรระหว่างผู้เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลสัตว์เลี้ยง เนื่องจากบุคคลทั้งสามนี้อาจจะเป็นบุคคลคนละคน หรืออาจเป็นบุคคลเดียวกันได้เช่นกัน

สำหรับสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีนั้น ผู้ตรากฎหมายจะต้องตัดสินใจว่า สัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเหมือนอย่างสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ หรือเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงที่ต้องมีผู้ครอบครองหรือไม่

เนื่องจากสัตว์เลี้ยงจะเป็นสิ่งที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระบุตัวตน คุณลักษณะ สถานที่อยู่หรือน้ำหนัก เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีอากร

นอกจากนี้ ผู้ตรากฎหมายจะต้องตัดสินใจว่า จะกำหนดรูปแบบอัตราภาษีและจำนวนภาษีที่ต้องชำระเช่นใด เพื่อทำให้ผู้เสียภาษีอากรสามารถคาดการณ์ภาระภาษีของตนเองเป็นการล่วงหน้าได้

เช่น การกำหนดอัตราภาษีตามจำนวนของสัตว์เลี้ยง หรือตามประเภทของสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ดูแลและสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีผู้ดูแล หรือการเสียภาษีสัตว์เลี้ยงเป็นรายปี หรือการกำหนดให้มีอัตราภาษีขั้นต่ำและขั้นสูงที่ต้องชำระ เป็นต้น

ในที่สุดแล้ว การมีระบบการเสียภาษีสัตว์เลี้ยง มีส่วนสร้างความกังวลให้กับเจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายภาษีอากรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงจำนวนมากที่อยู่ในความครอบครอง

แต่ในขณะเดียวกัน รายได้จากการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงควรจะต้องนำมาใช้ประโยชน์ด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ การรักษาสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนในท้องถิ่น อันเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างสัตว์เลี้ยงและมนุษย์.