เตรียมรับมือฝนรอบใหม่ เร่งระบายน้ำ ลุ่มน้ำชี-มูล ลงแม่น้ำโขง

เตรียมรับมือฝนรอบใหม่ เร่งระบายน้ำ ลุ่มน้ำชี-มูล ลงแม่น้ำโขง

ลุ่มน้ำชี-มูล เริ่มคลี่คลาย หลังฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขง เตรียมรับมือฝนรอบใหม่

วันนี้ (25 ก.ค. 67) ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี-มูล ว่า  จากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชุมชน  

โดยในส่วนของลุ่มน้ำชี  มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 จังหวัด อาทิ  ที่จังหวัดขอนแก่น  ได้แก่ อ.มัญจาคีรี  อ.บ้านไผ่  อ.บ้านแฮด  อ.ภูผาม่าน  อ.ชุมแพ และ อ.หนองเรือ โครงการชลประทานขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6  ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศบาลนครขอนแก่นและเจ้าหน้าที่เทศบาลบ้านเป็ด  นำรถบรรทุกและเครื่องสูบน้ำ เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง  ด้านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ได้เปิดประตูระบายน้ำในลำน้ำเชิญ  เร่งระบายน้ำป่าที่ไหลมาจากลำน้ำเชิญ  ช่วยลดระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่

ที่จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ อ.คอนสาร อ.บ้านแท่น อ.ภูเขียว และ อ.เกษตรสมบูรณ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ได้เร่งระบายน้ำป่าที่ไหลมาจากลำน้ำเชิญ ด้วยการเปิดบานประตูระบายน้ำในลำน้ำเชิญเช่นเดียวกัน ปัจจุบันแนวโน้มฝนลดลง ทำให้ปริมาณน้ำป่าที่ไหลลงลำน้ำลดลงตามไปด้วย การระบายลงสู่ลำน้ำ จึงทำได้ดียิ่งขึ้น หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ คาดว่าปริมาณน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและพื้นที่ลุ่มต่ำ จะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 5 - 7 วัน

ด้านจังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำที่ไหลลงสู่ลำน้ำเสียวใหญ่ และจากน้ำฝนที่ตกในพื้นที่  เข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บรบือ และ อ.วาปีปทุม ปัจจุบันระดับน้ำในลำห้วยเชียงคำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ส่วนที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในลำเสียวใหญ่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ปทุมรัตต์ และ อ.เกษตรวิสัย ล่าสุดน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่การเกษตรเริ่มทยอยไหลลงลำเสียวใหญ่ ถ้าไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่ม คาดว่าระดับน้ำจะลดลงภายใน 5 - 7 วัน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ ได้เปิดบานประตูระบายน้ำ พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบ เร่งเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ว 
 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี เพื่อลดระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ ด้วยการแขวนบานระบายน้ำของเขื่อนในลำน้ำชีทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย และยังเพิ่มการยกบานของเขื่อนชนบท เพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำชี  ให้ลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำมูล ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,390 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.72 ม. กรมชลประทาน ได้พร่องน้ำในเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน  พร้อมกับแขวนบานประตูระบายน้ำที่เขื่อนปากมูล เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เตรียมรองรับปริมาณน้ำจากลำน้ำชีที่จะไหลมาสมทบ ก่อนจะระบายลงแม่น้ำโขงตามลำดับ ในขณะที่การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงยังคงทำได้ดี สถานการณ์น้ำยังอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยงพร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ทันที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและการแจ้งเตือนให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนได้มากที่สุด ตามของสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนจากหน่วยงานทางราชการ ในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา