รู้จัก ‘บ้านทองหยอด’ ผู้ปลุกปั้น ‘วิว-กุลวุฒิ’ โรงเรียนที่เริ่มต้นจากโรงงานทำขนม

รู้จัก ‘บ้านทองหยอด’ ผู้ปลุกปั้น ‘วิว-กุลวุฒิ’ โรงเรียนที่เริ่มต้นจากโรงงานทำขนม

จากสนามแบดเล็กๆ สู่โรงเรียนสอนแบดมินต้นเบอร์ต้นของเมืองไทย เปิดประวัติ “โรงเรียนบ้านทองหยอด” ผู้ปลุกปั้น “วิว-กุลวุฒิ” เริ่มจากคอร์ทแบดข้างโรงงานขนมไทย ด้าน “แม่ปุก” เจ้าของโรงเรียน กางฝันใหญ่สร้างนักกีฬาระดับโลกเพิ่ม ชี้ ถ้าไม่ลงทุน เราจะไม่เจอเด็กเก่งเลย

KEY

POINTS

  • ความสำเร็จของ “วิว-กุลวุฒิ” นักแบดมินตันทีมชาติไทยผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ มี “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ก่อตั้งขึ้นโดย “แม่ปุก-กมลา” เจ้าของโรงงานขนมไทยที่ชื่นชอบการเล่นแบดมินตัน
  • จากคอร์ทแบดเล็กๆ ภายในพื้นข้างบ้าน นำไปสู่การก่อตั้งชมรมในปี 2534 เพราะต้องการส่งลูกๆ ลงแข่งขัน ซึ่งในเวลาต่อมา “เป้-ภัททพล” ติดนักกีฬาทีมชาติเป็นครั้งแรก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และเป็นโค้ชข้างสนามของ “วิว-กุลวุฒิ” ในปารีสเกมส์ครั้งนี้
  • “กมลา” ระบุว่า ความฝันของเธอและเป้าหมายของบ้านทองหยอดหลังจากนี้ คือการสร้างนักกีฬาไทยขึ้นไปเบียดตัวเต็งระดับโลกเพิ่มขึ้น ไม่หยุดแค่ “เมย์-รัชนก” หรือ “วิว-กุลวุฒิ”

สิ่งที่มาพร้อมกับชื่อของ “วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์” นักแบดมินตันทีมชาติไทย ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เหรียญเงินโอลิมปิกมาได้สำเร็จ คือเส้นทางการเติบโตของนักตบลูกขนไก่ที่ได้รับการปลุกปั้นจาก “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” เหมือนกับ “เมย์-รัชนก อินทนนท์” ที่เคยคว้าแชมป์ระดับซูเปอร์ซีรีส์ติดกัน 3 รายการ คนแรกในประวัติศาสตร์แบดมินตันโลก จนทำให้ขณะนั้นกีฬาแบดมินตันได้รับความสนใจจากเด็กๆ และคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก

สำหรับคนทั่วไปชื่อโรงเรียนบ้านทองหยอดอาจไม่คุ้นหูนัก แต่ในวงการกีฬาโดยเฉพาะแบดมินตัน นี่คือแหล่งอนุบาลนักกีฬาแถวหน้าของวงการ ว่ากันว่า ครอบครัวไหนที่เห็นแววลูกๆ อยากผลักดันสู่เส้นทางนักกีฬาแบดมินตัน เป็นต้องนึกถึงโรงเรียนที่มีจุดเริ่มจากโรงงานขนมไทยย่านพุทธมณฑลสาย 3 แห่งนี้เป็นที่แรกๆ นั่นจึงเป็นที่มาของเสียงพากย์ “ไม่เสียชื่อบ้านทองหยอด” เมื่อยาม “เจ้าวิว” ระเบิดฟอร์มอย่างสวยงาม

แต่ก่อนจะมาเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จุดเริ่มต้นของ “บ้านทองหยอด” มีที่มาที่ไปเหมือนกับชื่อโรงเรียน นั่นคือธุรกิจขายขนมไทย โดยมีขนมทองหยอดเป็นพระเอกแถวหน้า ส่วนเจ้าของโรงงานขนมไทยแห่งนี้ก็ไม่ใช่นักกีฬามืออาชีพที่ไหน “กมลา ทองกร” หรือที่เด็กๆ นักกีฬาเรียกว่า “แม่ปุก” เป็นผู้ตั้งสโมสรแบดมินตัน กระทั่งจดทะเบียนตั้งโรงเรียนเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีจุดเริ่มต้นจากความชื่นชอบในกีฬาแบดมินตัน และอยากให้ลูกๆ ของตนลงแข่งได้แบบมีสังกัด จึงคุยกับเพื่อนๆ เพื่อตั้งชมรมบ้านทองหยอดขึ้นในปี 2534

รู้จัก ‘บ้านทองหยอด’ ผู้ปลุกปั้น ‘วิว-กุลวุฒิ’ โรงเรียนที่เริ่มต้นจากโรงงานทำขนม

“บ้านทองหยอด” โรงเรียนสอนแบดมินตันแถวหน้า ของคนที่ไม่ใช่นักกีฬามืออาชีพ

กมลา ทองกร หรือ “แม่ปุก” ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ชื่นชอบการเล่นกีฬาและดูกีฬาตั้งแต่เด็กๆ เธอเคยเล่นกีฬาแชร์บอล วอลเล่ย์บอล และยิมนาสติก เมื่อครั้งเป็นนักเรียน แต่หลังจากแต่งงานมีครอบครัวก็หันไปโฟกัสกับธุรกิจขนมไทยมากกว่า

อย่างไรก็ตาม “กมลา” ไม่ทิ้งความชอบในอดีต เธอยังติดตามการแข่งขันกีฬาแบดมินตันทั้งระดับประเทศและระดับโลกอยู่เสมอ เวลาว่างก็มักจะชวนลูกๆ ไปตีแบด ไปอยู่เป็นประจำ จนเกิดไอเดียอยากให้ลูกๆ ได้ฝึกฝนกับมืออาชีพ มีความรู้ขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง กระทั่งถึงจังหวะลงแข่งขัน ปรากฏว่า ครั้งนั้นกมลาไม่สามารถส่งลูกๆ ลงสนามได้เพราะไม่มีต้นสังกัด นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอดในปี 2534

ช่วงแรกชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอดใช้สนามที่สร้างขึ้นเองภายในบริเวณบ้าน จำนวน 1 สนาม มีนักกีฬาในสังกัดเพียง 4 คน ได้ “พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ์” อดีตโค้ชแบดมินตันทีมชาติไทยเข้ามาเป็นครูฝึกสอนคนแรกให้กับบ้านทองหยอด กระทั่งโค้ชต้องย้ายไปรับราชการครูที่จังหวัดกระบี่ ทำให้กมลาต้องหาโค้ชมืออาชีพที่สามารถสอนเต็มเวลาได้มารับไม้ต่อ เป็นที่มาของ “เซียะ จือหัว” (Xie  Zhihua) โค้ชฝึกสอนชาวจีนที่มาประจำการ ณ บ้านทองหยอด ได้ 31 ปีเต็มแล้ว 

ชื่อเสียงของชมรมบ้านทองหยอดเริ่มดังไกลจากผลงานการแข่ง เมื่อนักกีฬาฟอร์มดีก็มีคนสนใจอยากเข้ามาสมัครเรียนเพิ่มขึ้น พื้นที่เดิมใกล้เคียงกับโรงงานทำขนมเริ่มรองรับไม่ไหว จึงตัดสินใจย้ายไปเช่าสนามแบดมินตันเพชรเกษม 59 ประมาณ 3 เดือน จากนั้นไปเปิดสอนที่สนามแบดมินตันหรรษา อีกราวๆ 7 ปี และย้ายมาสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 4 ปี ตอนนั้นเองที่กมลาต้องตัดสินใจเปลี่ยนผ่านจากชมรมสู่โรงเรียนเต็มตัว เพราะพื้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญไม่เอื้อต่อการฝึกซ้อมต่อเนื่อง ปี 2546 จึงจดทะเบียนเปิดโรงเรียนในชื่อ “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด”

จากครอบครัวที่ชื่นชอบการดูกีฬา “บ้านทองหยอด” สามารถปั้นนักฬาแบดมินตันทีมชาติไทยคนแรกได้สำเร็จ นั่นคือ “ภัททพล เงินศรีสุข” ลูกชายของกมลา ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “โค้ชเป้” ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสอนแบดมินตันบ้านทองหยอดคนปัจจุบัน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชื่อของบ้านทองหยอดได้รับความสนใจมากขึ้น มาจากชัยชนะของ “เมย์-รัชนก อินทนนท์” ที่เติบโตและคลุกคลีในโรงงานขนมไทยของกมลาตั้งแต่เด็กๆ โดยรัชนกเริ่มต้นฝึกฝนตีแบดตั้งแต่อายุได้เพียง 5 ขวบเท่านั้น

รู้จัก ‘บ้านทองหยอด’ ผู้ปลุกปั้น ‘วิว-กุลวุฒิ’ โรงเรียนที่เริ่มต้นจากโรงงานทำขนม -(จากซ้ายไปขวา) “วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์” นักแบดมินตันทีมชาติไทย และ “ภัททพล เงินศรีสุข” หรือ “โค้ชเป้”-

ชัยชนะของ “เมย์-รัชนก” สู่เม็ดเงินหลักสิบล้าน ปั้นนักกีฬาบนเวทีโลกคนต่อไป

ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนที่โรงเรียนแบดมินต้นบ้านทองหยอดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ คอร์สพื้นฐาน เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี คอร์สนักกีฬา เหมาะสำหรับนักกีฬารุ่นเล็ก กลาง และโต และคอร์สพิเศษ เรียนตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ

หลังจากบ้านทองหยอดเปลี่ยนจากชมรมเป็นโรงเรียนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการในปี 2546 อีก 10 ปีให้หลัง “เมย์-รัชนก” ก็สามารถคว้าแชมป์โลกแบดมินตันด้วยสถิติอายุน้อยที่สุด ในวัย 18 ปี “กมลา” เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ (Post Today) ว่า หลังจากรัชนกได้แชมป์ก็เกิดกระแสฟีเวอร์ในกีฬาแบดมินตันทันที “บ้านทองหยอด” กลายเป็นหมุดหมายของนักแบดมินตัน เพราะคำว่า แชมป์โลก และ “อยากเป็นแบบพี่เมย์”

“กมลา” ระบุว่า ก่อนหน้ารัชนกคว้าแชมป์โลก ตนเป็นผู้ควักกระเป๋าในการอัดฉีดค่าจ้างโค้ช อุปกรณ์ ปีละหลายล้านบาท แต่หลังจากนั้นก็มีผู้สนับสนุนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีเงินเข้ามาสนับสนุนโรงเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงสิบเท่า ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ก็ช่วยให้การฝึกซ้อมของนักกีฬามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะการปั้นนักกีฬาอาชีพต้องใช้ทุนทรัพย์สูง เฉลี่ย 1 คน ตกเดือนละเกือบ 1 ล้านบาท 

สิ่งสำคัญในการปั้นนักกีฬาแบดมินตันมืออาชีพ “กมลา” บอกว่า ต้องให้เด็กๆ เหล่านี้ได้เจอสนามนอกบ้านตั้งแต่ยังเด็ก อย่างรัชนกได้ไปแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับโลกตั้งแต่อายุ 8 ปี ความรู้สึกการอยู่ในบ้านหรือในประเทศ กับการได้ไปเจอคู่แข่งระดับโลกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งการสนับสนุนในระดับนี้ต้องใช้เงินทุนต่อยอด จะเจอเพชรเม็ดงามอย่าง “เมย์-รัชนก” และ “วิว-กุลวุฒิ” ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ลงทุน โอกาสที่จะเจอเด็กเก่งๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

รู้จัก ‘บ้านทองหยอด’ ผู้ปลุกปั้น ‘วิว-กุลวุฒิ’ โรงเรียนที่เริ่มต้นจากโรงงานทำขนม

เป้าหมายต่อไปของ “บ้านทองหยอด” กมลาบอกว่า อยากจะสร้างนักกีฬาที่สามารถเข้าไปเบียดอันดับต้นๆ ของโลกได้เพิ่มขึ้น คงไม่หยุดที่รัชนกหรือกุลวุฒิเท่านั้น สำคัญไม่แพ้เงินทุน คือใจของนักกีฬา หากเด็กๆ มีใจสู้ อยากแข่งขัน ตนและโรงเรียนก็พร้อมสนับสนุนความฝัน ไม่ใช่แค่บ้านทองหยอดที่จะดีใจกับความสำเร็จ แต่คนไทยทั้งประเทศก็จะพลอยมีความสุขไปกับความสำเร็จด้วย

 

อ้างอิง: Banthongyord Badminton SchoolPost TodayStadium TH 1Stadium TH 2T Sports 7