วันรพี 7 ส.ค. พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ประวัติและกิจกรรมน้อมรำลึก
ถวายเครื่องราชสักการะ เบื้องหน้าพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เนื่องในวันรพี 7 ส.ค. พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ประวัติและกิจกรรมน้อมรำลึก
จัดพิธีวางพวงมาลา และถวายเครื่องราชสักการะ เบื้องหน้าพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เนื่องใน วันรพี ประจำปี 2567
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่บริเวณหน้าอาคารศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ
- นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
- นายกฤษดา ศรีกัลยา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดนางรอง ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศรีสะเกษ
นำคณะผู้พิพากษา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนนักกฎหมาย หน่วยงานต่างๆ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จัดพิธี
ประวัติวันรพี 7 ส.ค. พระบิดาแห่งกฎหมายไทย
พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาตลับ
ทรงประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2417 เมื่อทรงพระเยาว์ทรงเข้ารับการศึกษาภาษาไทย และภาษาอังกฤษจนรอบรู้เชี่ยวชาญ ในปลายปีพุทธศักราช 2431 ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด
ทรงสอบไล่ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางกฎหมายในเวลา 3 ปี ในขณะนั้นที่มีพระชันษาเพียง 20 พรรษา นับว่าทรงพระเยาว์สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี แต่เนื่องจากมีความจำเป็นของประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับสั่งเรียกพระองค์กลับ
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2439
ผลงาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ตลอดเวลา 14 ปี ทรงดำเนินกิจการงานราชการของกระทรวงยุติธรรม ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะเข้มแข็ง ยังผลให้งานราชการของกระทรวงยุติธรรม เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
พระองค์ทรงจัดให้มีการรวบรวมชำระสะสาง จัดวางบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้ทันสมัยเพียงพอแก่ความต้องการของบ้านเมืองและสังคม และทรงบังคับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี บังเกิดผลให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงของศาลสถิตยุติธรรม ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ สะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทุกศาลในราชอาณาจักร
ทั้งมีความเจริญทัดเทียมกับเหล่านานาอารยประเทศ และให้มวลเหล่าประชาราษฎร์ได้มีโอกาสศึกษาบทกฎหมายง่ายยิ่งขึ้น
ในปีพุทธศักราช 2440 ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น เปิดสอนวิชากฎหมายเป็นแห่งแรก โดยขอยืมสถานที่ของกระทรวงยุติธรรมเป็นสถานที่สอน และได้ทรงประทานเวลามาสอนวิชากฎหมายให้แก่นักเรียนด้วยพระองค์เอง
ทรงรวบรวมและแต่งตำรากฎหมายในลักษณะต่างๆไว้มากมาย เป็นรากฐานอันสำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับการศึกษาวิชานิติศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และทำให้ผู้มีความรู้ทั้งหลายได้เลื่อมใสวิชากฎหมายมากยิ่งขึ้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสด็จสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พุทธศักราช 2463 ด้วยพระชนม์มายุ 47 พรรษา ในวันที่ 7 สิงหาคม
เป็นวาระวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง นักนิติศาสตร์ทั้งหลายจึงขอน้อมรำลึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีปกแผ่ตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน นักนิติศาสตร์ได้เทิดทูนและสืบทอดเจตนารมณ์ของพระองค์ท่าน และขอได้พึงช่วยกันจรรโลงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ซึ่งพวกเรามีอยู่ในสายเลือดแล้วให้ปรากฏสืบนานเท่านาน เพื่อความสงบสุขของเหล่าประชาราษฎร์ทั้งหลายทั้งปวง
อ้างอิง - สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ