สปสช. เตรียมนำ รพ.เอกชน 22 แห่ง ในเขต กทม. ร่วม 30 บาทรักษาทุกที่

สปสช. เตรียมนำ รพ.เอกชน 22 แห่งในเขต กทม. ร่วม 30 บาทรักษาทุกที่

สปสช. เตรียมนำรพ. เอกชน 22 แห่งในเขต กทม. เข้าร่วมจัดเครือข่ายในระบบการส่งต่อ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชน

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่ กทม. จะเริ่มในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ประชาชนที่จะเข้ารับบริการต้องเป็นหน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ให้บริการ 30 บาท ติดอยู่เท่านั้น และหน่วยบริการที่จะได้รับตราสัญลักษณ์นี้ได้ต้องผ่านการรับรองจากสปสช. ก่อน ต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลในระบบก่อนเพื่อดูประวัติผู้ป่วย ต้องรู้กฎเกณฑ์ว่าเมื่อผู้รับบริการมาแล้วจะให้บริการอย่างไร ทั้งการเปิด - ปิดสิทธิ์ และระบบพิสูจน์ตัวตนเพื่อเข้ารับบริการ ไม่เพียงแค่ใช้บัตรประชาชน ยืนยันสิทธิ์เท่านั้น อาจใช้เป็นแอปพลิเคชัน ที่พิสูจน์ตัวตนได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าใช้บริการได้ 
 

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มหน่วยนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มเติม ตอนนี้มีประมาณ 1,200 แห่ง  เช่น ร้านยา  คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพ คลินิกห้องปฏิบัติการ เจาะเลือดต่าง ๆ คลินิกแพทย์แผนไทย  ในอนาคตคลินิกเหล่านี้อาจจะไปเปิดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า หรือ ตามปั๊มน้ำมัน หรือในโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเบื้องต้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ยังมีมติที่จะนำโรงพยาบาลเอกชนอีก 22 แห่ง ใน กทม. เข้ามาร่วมจัดเครือข่ายในระบบการส่งต่ออีกด้วย เช่น โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น เป็นต้น 
 

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ระบุว่า ทาง กรุงเทพมหานคร ตอบรับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวของรัฐบาล โดยหน่วยบริการในสังกัด กทม. พร้อมรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง  อย่างศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งที่เป็นหน่วยปฐมภูมิ 

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทุกคนจะเดินเข้าไปยังโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งเป็นหน่วยบริการตติยภูมิได้ การรักษาจะให้เริ่มจากไปรักษาอาการเบื้องต้น ที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่รุนแรง ซึ่งหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เข้าร่วมโครงการ จะมีสัญลักษณ์  30 บาทรักษาทุกที่ติดไว้