รัฐบาล ดันกฎหมายส่งเสริม-ดูแล 'แรงงานนอกระบบ' กว่า 20 ล้านคน

รัฐบาล ดันกฎหมายส่งเสริม-ดูแล 'แรงงานนอกระบบ' กว่า 20 ล้านคน

รัฐบาล ดันกฎหมายส่งเสริม-ดูแล "แรงงานนอกระบบ" หลากหลายอาชีพ กว่า 20 ล้านคน ปั้นครู ก ครู ข ชวนขึ้นทะเบียนรับสิทธิประโยชน์ ตั้งเป้าปีแรก 9 ล้านคน

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต "แรงงานอิสระ" ที่มีจำนวนกว่า 20 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้รับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า ศิลปินนักแสดง ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือ ไรเดอร์ ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ

แต่ที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน โดยกฎหมายนี้จะช่วยให้แรงงานอิสระมีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัยในการทำงาน สามารถรวมกลุ่มปกป้องสิทธิของตัวเองได้ 

ที่สำคัญแรงงานอิสระทุกคนจะมีโอกาสได้ขึ้นทะเบียน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีฐานข้อมูลกำหนดนโยบาย แผนงาน และงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างตรงจุด รวมทั้งจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับแรงงานอิสระด้วย
 

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังสนับสนุนการจัดฝึกอบรม “ครู ข” หรือเครือข่ายแรงงานอิสระระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบโดยเครือข่ายชุมชน ผ่านการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ ที่กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. 67 นี้ พร้อมกันทุกจังหวัด 

ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .. และการใช้งานระบบขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระ แก่อาสาสมัครแรงงาน กทม. และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในส่วนภูมิภาค รวม 75,249 คน 

โดยเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ครู ข ทั้งหมดจะลงพื้นที่เชิญชวนให้ประชาชนขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระผ่านแอปพลิเคชันของกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายครู ข 1 คนต่อประชาชน 120 คน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนในปีแรก 9,029,880 คน
 

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะดึงแรงงานอิสระเข้าสู่ระบบให้มากที่สุดเพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง โดยครู ข ที่ผ่านการฝึกอบรมจะใช้ช่องทางต่าง ๆ เช่น ประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว ลงพื้นที่ถึงบ้าน จัดประชุมหมู่บ้าน/ชุมชน ใช้เครือข่ายอาสาสมัคร/บัณฑิตแรงงาน และเครือข่ายของหน่วยงานอื่น รวมทั้งโซเชียลมีเดียและสื่อต่าง ๆ เชิญชวนให้ประชาชนขึ้นทะเบียน 

ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้จัดฝึกอบรม “ครู ก” หรือครูต้นแบบระดับจังหวัดไปแล้ว โดยมีแรงงานจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่ม องค์กรแรงงานอิสระ อาสาสมัครและบัณฑิตแรงงาน เข้าร่วม 234 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรแนวหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับครู ข ต่อไป