อัปเดต สถานการณ์น้ำท่วม ภาคเหนือ 6 จว. 33 อ. เทียบจำนวนพายุ กับน้ำท่วมใหญ่ปี 54
อัปเดต สถานการณ์น้ำท่วม อุทกภัยภาคเหนือ พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ 33 อำเภอ ได้รับผลกระทบ 13,388 ครัวเรือน สทนช. ประเมินสถานการณ์จำนวนพายุ ปริมาณฝน พื้นที่กักเก็บน้ำ เปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54
สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด อุทกภัยภาคเหนือ พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ 33 อำเภอ ได้รับผลกระทบ 13,388 ครัวเรือน สทนช. ประเมินสถานการณ์จำนวนพายุ ปริมาณฝน พื้นที่กักเก็บน้ำ เปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับที่เคยเกิดในปี 2554 สทนช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นโดยวิเคราะห์ เปรียบเทียบแนวโน้มความเสี่ยงอุทกภัยระว่าง 3 ปี ได้แก่ ปี 2554 ปี 2565 และ ปี 2567 ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ประเมินสถานการณ์อุทกภัย เปรียบเทียบในช่วง 3 ปี
การประเมินพายุจรที่พัดผ่านเข้าประเทศไทย พบว่า ในปี 2554 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก ในปี 2565 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 1 ลูก ได้แก่ พายุโนรู (เดือน ก.ย.) และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและไต้ฝุ่นที่เข้ามาบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม
การเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสม พบว่า ปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดในคาบ 61 ปี (นับจาก พ.ศ. 2494) ในปี 2565 มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,876 มม. สูงกว่าค่าปกติ 27% หรือมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 40 ปี
ซึ่งหมายรวมถึงมากกว่าปี 2554 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยร้ายแรง แต่ในปี 2565 กลับพบว่าสถานการณ์อุทกภัยไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี 2554 สำหรับปี 2567 ณ เดือนสิงหาคมนี้ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศไทย ยังคงต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 4 และต่ำกว่า ปี 2554
การเปรียบเทียบศักยภาพในการรองรับน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 24 ส.ค.
เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า ปี 2554 สามารถรองรับได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม. ปี 2565 สามารถรองรับ 11,929 ล้าน ลบ.ม. และปี 2567 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม.
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปรากฏการณ์เอนโซ จากสภาวะเอลนีโญสู่สภาวะลานีญา ประกอบกับอิทธิพลของมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต่าง ๆ และส่งผลให้เกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่
จากการติดตามประเมินสถานการณ์ พบว่า ปริมาณฝนตกในทุกพื้นที่ขณะนี้ระดับความรุนแรงยังเทียบไม่ได้กับปี 2554 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมแผนบริหารจัดการกรณีเกิดพายุที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย
ติดตามสถานการณ์น้ำปัจจุบัน
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ณ วันที่ 25 ส.ค. 67 บริเวณภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีปริมาณฝนตกสะสม 24 ชม. สูงสุดวัดได้
- อ.แม่จัน จ.เชียงราย 147 มิลลิเมตร
- อ.ลอง จ.แพร่ 96 มิลลิเมตร
- อ.สองแคว จ.น่าน 93 มิลลิเมตร
ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะนี้ แม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขา ยังคงมีน้ำล้นตลิ่ง ที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ระดับน้ำ 8.53 ม. สูงกว่าระดับตลิ่ง 2.03 ม.
ทั้งนี้ สทนช. ประสานกรมชลประทานเร่งบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำน่าน โดยปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านจะไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งขณะนี้ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,990 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับลุ่มน้ำยมได้พร่องน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ และเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ 265,000 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน และผันน้ำไปยังแม่น้ำน่าน
ทั้งนี้ จะทำให้ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 944 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำโดยรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราที่เหมาะสม
พร้อมปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 649 ลบ.ม./วินาที คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700 - 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไม่สงผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จนถึง จ.สมุทรปราการ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์สาธารณภัย
25 ส.ค. 67 ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ จำนวน 33 อำเภอ 126 ตำบล 742 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 13,388 ครัวเรือน ดังนี้
1. จ.เชียงราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 15 อำเภอ 47 ตำบล 306 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 7,294 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
2. จ.พะเยา พื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 อำเภอ 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
3. จ.น่าน พื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 5 ตำบล 6 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 353 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
4. จ.แพร่ พื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ 23 ตำบล 102 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
5. จ.สุโขทัย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 10 ตำบล 10 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 146 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
6. จ.เพชรบูรณ์ พื้นที่ได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,530 ครัวเรือน ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว