น้ำท่วม 23 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน เช็กช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบคลัง
สถานการณ์ น้ำท่วม 23 จังหวัด เร่งระบายน้ำออก 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 5,117 ครัวเรือน เช็กช่วยเหลือแจกเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง
KEY
POINTS
- น้ำท่วมล่าสุด รวม 102 อำเภอ 419 ตำบล 2,266 หมู่บ้าน
- ประชาชนได้รับผลกระทบ 69,093 ครัวเรือน
- มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย
อัปเดตล่าสุด สถานการณ์ น้ำท่วม 23 จังหวัด เร่งระบายน้ำออก 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 5,117 ครัวเรือน เช็กช่วยเหลือแจกเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง
วันนี้ 30 ส.ค. 67 เมื่อเวลา 11.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และหนองคาย รวม 27 อำเภอ 117 ตำบล 271 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,117 ครัวเรือน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทำให้ระหว่างวันที่ 16 - 30 ส.ค. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่
- เชียงราย
- เชียงใหม่
- พะเยา
- น่าน
- ลำพูน
- ลำปาง
- แพร่
- อุตรดิตถ์
- สุโขทัย
- พิษณุโลก
- นครสวรรค์
- เพชรบูรณ์
- เลย
- อุดรธานี
- หนองคาย
- หนองบัวลำภู
- ระยอง
- ภูเก็ต
- ยะลา
- นครศรีธรรมราช
- พังงา
- ตรัง
- สตูล
รวม 102 อำเภอ 419 ตำบล 2,266 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 69,093 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย
ปัจจุบันน้ำท่วม 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน เช็กช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบคลัง ข้อมูลวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 21 อำเภอ 117 ตำบล 271 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,117 ครัวเรือน ดังนี้
- เชียงราย ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.แม่จัน อ.เชียงของ อ.ดอยหลวง อ.เมืองฯ อ.แม่ลาว อ.พญาเม็งราย อ.เวียงชัย อ.ขุนตาล อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.เทิง และ อ.ป่าแดด รวม 52 ตำบล 58 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 625 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง
- สุโขทัย ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองฯ อ.ศรีนคร และ อ.กงไกรลาศ รวม 39 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,483 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- พิษณุโลก ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม และอ.บางระกำ รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
- เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.หล่มสัก รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 917 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- หนองคาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.รัตวาปี อ.ศรีเชียงใหม่ อ.สังคม อ.ท่าบ่อ และ อ.เมืองฯ รวม 21 ตำบล 100 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 52 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ประชาชนเดือดร้อนน้ำท่วม เช็กช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบคลัง
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ
- เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล
- เครื่องสูบน้ำ
- รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย
- รถผลิตน้ำดื่ม
เร่งระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อน และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ ยังได้สนับสนุนถุงยังชีพรวมกว่า 8,000 ชุด แจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น
ในส่วนของการเสริมกำลังช่วยน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนธิกำลังร่วมส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 "The Guardian Team" สนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่
นอกจากนี้ ปภ. ยังได้ส่งทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียงและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัย เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา
เช็กช่วยเหลือแจกเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์สาธารณภัยและประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่
- แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android
- หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM
- สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ้างอิง - กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ.