บุกจับ 'ข้าราชการ' รีดส่วยรถบรรทุก มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้าน
เจ้าหน้าที่รัฐ ป.ป.ท. ร่วมกับ ป.ป.ช. และ ตำรวจ ปปป. จับกุมข้าราชการ รีดส่วยรถบรรทุก มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้านบาท
กรณีเจ้าหน้าที่รัฐ ป.ป.ท. ร่วมกับ ป.ป.ช. และตำรวจ บก.ปปป. จับกุมข้าราชการ "รีดส่วยรถบรรทุก" มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้านบาท วันนี้ (วันอังคารที่ 3 กันยายน 2567) เวลา 06.00 น. สำนักงาน ป.ป.ท. ภายใต้การอำนวยการของนายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. และนายเอกชัย เกษมสุขธวัช รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมายให้
- พ.ต.ท. สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2
- พ.ต.ท. สราวุธ คำเหลือง ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต
- เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่ ร่วมกับ
- นายไพโรจน์ นิยมเดชา ผู้อำนวยการกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 2 สำนักงาน ป.ป.ช.
- พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.
- พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป.
นำกำลังเข้าจับกุมข้าราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก รายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้โดยไม่ถูกจับกุม พร้อมทั้งตรวจค้นด่านชั่งน้ำหนักที่ผู้ต้องหาปฏิบัติหน้าที่ กว่า 10 จุด
ลุย! ป.ป.ท. ร่วมกับ ป.ป.ช. และ ตำรวจ ปปป. จับข้าราชการ รีดส่วยรถบรรทุก
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตเรียกรับส่วยรถบรรทุก ถึงจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก รายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้โดยไม่ถูกจับกุม
ซึ่งกระทำการโดยชุดเฉพาะกิจ นําโดยนาย น. (นามสมมุติ) ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนัก ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิดในการบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุก
และนาย อ. (นามสมมุติ) ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อแลกกับการไม่จับกุมผู้ประกอบการรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
มีพฤติการณ์ในการรับเงินจากผู้ประกอบการโดยตรง และโอนเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีของนาย น. (นามสมมุติ) และยังมีนาย ธ. (นามสมมุติ) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรายใหญ่น้อยต่างๆ และนำเงินไปส่งมอบให้นาย น. (นามสมมุติ) โดยใช้บัญชีม้ารับโอนเงินและทำธุรกรรมต่าง ๆ
สำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้ร่วมกับ ป.ป.ช. และ บก.ปปป. สนธิกำลังเข้าจับกุมตัว นาย น. (นามสมมุติ) นาย อ. (นามสมมุติ) และนาย ธ. (นามสมมุติ) พร้อมตรวจค้นตามจุดต่างๆ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมไปถึงตรวจค้นด่านชั่งน้ำหนักที่ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วย รวม 11 จุด และดำเนินการส่งตัวผู้ต้องหาให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นทราบว่ามีชุดเฉพาะกิจดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 ชุด โดยตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียหายรวมมากกว่า 30 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้านบาท และเงินส่วยหมุนเวียนแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ความผิดดังกล่าว เกิดจากการกระทำส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัด