สพฐ. ดัน ‘โรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้อง’ ยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียม ทั่วประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผลักดันโครงการ ‘โรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้อง’ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้เท่าเทียมกัน ทั่วประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผลักดันโครงการ ‘โรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้อง’ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้เท่าเทียมกัน ทั่วประเทศ
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาตามแนวคิดวิเคราะห์ โดยให้เริ่มจากการอ่านที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาความคิดเชิงตรรกะ และการเชื่อมโยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้แก่เด็ก จึงไม่ควรมองข้ามโรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) และในอนาคต การยกระดับมาตรฐานการศึกษาจะต้องขยายไปสู่ 245 เขต + 1 (สศศ.) ต่อไป
โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างโรงเรียนพี่ - โรงเรียนน้อง จะสามารถส่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมต่อนักเรียน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนในสังกัด สศศ. ซึ่งทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และสามารถนำไปเป็นต้นแบบที่เข้มแข็งให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศได้
นางเกศทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการยกระดับการศึกษาตามแนวทางการสอบ PISA นั้น เชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายได้ร่วมพูดคุยและปรับปรุงสิ่งที่ท้าทายให้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง เด็กนักเรียนจะมีความคุ้นเคยกับข้อสอบที่ออกแบบเป็นสถานการณ์จำลอง ทำให้พวกเขามีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ การฝึกคิดวิเคราะห์ผ่านข้อสอบที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน จะส่งเสริมทักษะเหล่านี้ ซึ่งเป็นจุดเด่นของโรงเรียนในสังกัด สศศ. ที่เน้นพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพอย่างเข้มข้น
จากข้อมูลการทดสอบระบบ PISA ของโรงเรียนน้องในสังกัด สศศ. พบว่า นักเรียนไม่รู้สึกเบื่อหน่ายและมีความคุ้นเคยกับลักษณะของข้อสอบ เพียงแต่อาจยังไม่คุ้นเคยกับการอ่านในปริมาณมาก แต่เด็กสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาข้อสอบกับสถานการณ์ที่พบในชีวิตประจำวันได้ สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาทักษะ